พม.นำร่ององค์กร ‘เท่าเทียมทางเพศ’

พม.นำร่ององค์กร ‘เท่าเทียมทางเพศ’

เป็นเสียงเรียกร้องจากทุกภาคส่วน ให้รัฐขับเคลื่อนสร้างความเท่าเทียมทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ระบุประเด็นใหม่มิติทางเพศ ในมาตรา 71 ให้ “จัดสรรงบประมาณรัฐ พึงคํานึงถึงความจําเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศ วัย และสภาพของบุคคล ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรม”

ล่าสุด ได้เริ่มขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย จัดโดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัด พม. กล่าวว่า การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การเสริมพลังสตรี และสิทธิมนุษยชนของสตรี การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งสิทธิสตรีของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ต้องเร่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ประเทศไทยโดย พม.ได้มีการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ดังกล่าว รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 ก็กำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายขึ้นในภาครัฐ โดยกำหนดให้มีผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (Chief Gender Equality Officer-CGEO) และศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender Focal Point-GFP) ในทุกกระทรวง ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าจนถึงปัจจุบันมี 135 กรมใน 19 กระทรวง รวมทั้ง 4 หน่วยงานอิสระที่ได้ดำเนินการจัดตั้ง CGEO และ GFP แล้ว รวมทั้งมีการจัดทำแผนแม่บทด้านความเสมอภาคหญิงชาย

ปรเมธี วิมลศิริ

พม.เป็นหน่วยงานหลักของรัฐขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาค ซึ่งในการประชุม CGEO และ GFP เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้กำหนดแนวการพัฒนาใน 5 มิติ เพื่อให้ พม.เป็นต้นแบบองค์กรส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ประกอบด้วย 1.มิติการพัฒนากลไก ให้มีการแต่งตั้ง CGEO ระดับกรม และ GFP ในทุกกรม และทบทวนการดำเนินการตามแผนแม่บทด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ 2.มิติการพัฒนาบุคลากร จัดหลักสูตรให้ความรู้เรื่องเพศภาวะ และการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมถึงการบูรณาการเพศภาวะในการปฏิบัติงานกับกลุ่มเป้าหมายของหน่วยงาน

Advertisement

3.มิติการพัฒนาการปฏิบัติงาน จัดเก็บข้อมูลจำแนกเพศในองค์กร ทั้งบุคลากรและผู้ใช้บริการ และงบประมาณที่มีมุมมองมิติเพศภาวะ 4.มิติการพัฒนาสภาวะแวดล้อมและกฎระเบียบภายในองค์กร โดยปรับปรุงและพัฒนามาตรการและสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น ความเสมอภาคระหว่างเพศในการสรรหาและแต่งตั้ง การจัดห้องให้นมบุตร ห้องดูแลเด็กเล็ก ห้องปั๊มน้ำนมมารดา ห้องน้ำสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศในการทำงานทุกหน่วยงาน เป็นต้น และ 5.ติดตามและประเมินผล โดยทุกส่วนราชการมีหน้าที่ในการติดตาม และการรายงานการดำเนินงานในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ

“พม.จะปฏิบัติตามทั้ง 5 มิตินี้ ให้เป็นองค์กรตัวอย่าง ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศทุกมิติ จากนั้นจะขยายผลเชิญชวนทุกหน่วยงานมาร่วมกันสร้างความเท่าเทียมทางเพศต่อไป” ปลัด พม.กล่าวทิ้งท้าย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image