รองปลัดยธ.แย้งอธิบดีป่าไม้ ชี้ปล้ำข้าราชการผิดวินัยร้ายแรง

กรณีข้าราชการหญิงกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ถูกพนักงานราชการชาย ซึ่งเป็นพนักงานขับรถคุกคามทางเพศระหว่างนั่งรถไปปฏิบัติราชการที่ต่างจังหวัด และจะไปแจ้งความดำเนินคดี แต่ถูกหัวหน้างานสั่งไม่ให้แจ้งความเกรงจะทำให้องค์กรเสียชื่อเสียง แต่ข้าราชการบางคนที่ทราบเรื่องทนไม่ไหวส่งข้อความผ่านทางไลน์เรียกร้องความเป็นธรรม กระทั่งนายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ ได้แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและพบว่ามีมูลความผิดจริง และจะต้องมีการสั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยข้าราชการ 3 รายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้มีการสอบสวนเรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าที่พัก แต่พบว่ากลับไปพักฟรีในสถานที่ราชการด้วยนั้น แต่ปรากฎว่าล่าสุดอธิบดีกรมป่าไม้กลับมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างไม่ร้ายแรง 3 ข้าราชการกรมป่าไม้ในกรณีดังกล่าว

โดยนายชลธิศ สุรัสวดี ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการตั้งกรรมการสอบวินัยฯว่า สาเหตุที่มีผลสรุปว่าให้ตั้ง กรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรงนั้น เป็นข้อเสนอที่มาจากสำนักบริหารงานกลาง กรมป่าไม้ ที่ดูแลเรื่องระเบียบ วินัย ที่ถูกกำหนดมาจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อีกทีหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในวันนี้ (28 กรกฎาคม) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ธวัชชัย ไทยเขียว เกี่ยวกับเรื่องการผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ดังนี้…

“วินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง..!?

Advertisement

ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ฉบับปัจจุบันในหมวดเกี่ยวกับวินัยนั้นไม่มีกฎหมายมาตราใดที่บัญญัติโดยตรงว่าข้าราชการพลเรือนผู้ใดปลุกปล้ำบุคคลอื่น ถือว่ากระทำผิดวินัย

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีบัญญัติไว้โดยตรง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าข้าราชการผู้ใดที่ไปปลุกปล้ำบุคคลอื่นจะถูกลงโทษทางวินัยหรือไม่? ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 แล้วจะพบว่าที่ผ่านมามีมาตราที่สามารถนำมาใช้ลงโทษทางวินัยสำหรับข้าราชการที่ไปปลุกปล้ำบุคคลอื่น ดังนี้
มาตรา 82(10) ที่บัญญัติว่า “ต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย” อันถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง
มาตรา 85(4) ที่บัญญัติว่า “กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” อันถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

สำหรับองค์ประกอบความผิดของทั้งสองมาตรานี้ยังคงเหมือนในมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 กล่าวคือ
1.เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ
2.เป็นการกระทำที่สังคมรู้สึกรังเกียจ
3.เป็นการกระทำโดยเจตนาชั่ว

Advertisement

ซึ่งถ้าพฤติกรรมดังกล่าวมีความร้ายแรงมากกว่าถึงขนาดทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการอย่างร้ายแรง ก็จะเป็นความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
ดังนั้น ข้าราชการพลเรือนที่ไปปลุกปล้ำบุคคลอื่น จึงอาจมีความผิดวินัยตามมาตราดังกล่าวข้างต้นได้

ทั้งนี้ จะผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไปครับ

ประมวลจริยธรรมข้าราชการข้าราชการพลเรือน หมวด 2 จริยธรรมข้าราชการพลเรือน ข้อ 10 ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียง และภาพลักษณ์ของราชการโดยรวม”

ขอบคุณภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก ธวัชชัย ไทยเขียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image