สพฉ. จ่อเชิญ ‘ผู้จัดละคร-ผู้ผลิตรายการ’ อบรมวิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง หลังดราม่า ‘หมอก้อง’

 

หลังจากสังคมออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์กรณี  “หมอก้อง” หรือ พ.ต.นพ.สรวิชญ์ สุบุญ นักแสดงและคุณหมอชื่อดัง ได้สาธิตวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากการถูกไฟดูด งูกัด และจมน้ำ เป็นต้น ในรายการโทรทัศน์ และทางจ่าพิชิต เจ้าของแฟนเพจเฟซบุ๊ก “Drama-Addict” ออกมาโพสต์ชี้แจงว่าเป็นการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่  ซึ่งทาง “หมอก้อง” ได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ น้อมรับทุกความผิดพลาดนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการกล่าวโทษกัน แต่อยากให้ใช้โอกาสของความผิดพลาดช่วยกันพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้อง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ บริษัทเอกชน ประชาชนทั่วไป ดารา ผู้จัดละคร เป็นต้น โดย สพฉ.ได้หารือร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการที่จะสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะดารานักแสดง ผู้จัดหนังละคร ผู้ผลิตรายการทีวี ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับประชาชน โดยสามารถที่จะสอดแทรกอยู่ในบทหนังละคร หรือถ่ายทอดลงในรายการได้ ซึ่งขั้นตอนต่อไป สพฉ.จะเชิญผู้จัดละคร ผู้ผลิตรายการทีวี เข้ามาพูดคุยถึงแนวทางการร่วมมือกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง และจะฝึกอบรมการปฐมพยาบาลและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน เพราะเมื่อเข้าใจก็จะถ่ายทอดให้กับประชาชนได้ไม่ผิดพลาด

“หากสื่อใดหรือรายการไหนต้องการจะผลิตเรื่องราวที่เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถติดต่อเข้ามาที่สถาบันฯได้ เราพร้อมให้ความร่วมมือ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหรือการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้อง สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น “EMS 1669″ มาใช้ได้ ซึ่งจะให้ข้อมูลเรื่องการคัดแยกอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน และการปฐมพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกต้องในหลายกรณี อาทิ การชัก การถูกทำร้ายบาดเจ็บ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก จมน้ำ สำลักอุดตันทางเดินหายใจ ถูกสัตว์กัด และการเจ็บแน่นทรวงอก โดยแอพฯ ยังสามารถขอความช่วยเหลือ 1669 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและระบุพิกัดของผู้แจ้งได้ด้วย” เลขาธิการ สพฉ. กล่าว

Advertisement

นพ.อนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ จะหารือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อผลักดันหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้บรรจุเข้าไปในแบบเรียนของนักเรียนที่จะฝึกให้เด็กๆ สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้จริงเหมือนฝั่งยุโรปที่สอนให้เด็กตั้งแต่อายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานหรือทำ CPR เป็น และจะสอนให้เด็กรู้จักการใช้งานเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED)  เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ โดยจะมีการกำหนดระดับการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละชั้นการศึกษาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ว่าควรเรียนรู้ในเรื่องไหนอย่างไร

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image