ยธ.แจง ขั้นตอนคุ้มครองพยาน หลังโฆษกปชป.ชงป้องคดีบอส ชี้ ที่ผ่านมาไม่มีการร้องขอ

ยธ.แจง ขั้นตอนคุ้มครองพยาน หลัง “โฆษก ปชป.” ชง ป้องพยานคดีบอส อยู่วิทยา ชี้ พยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนพยานบุคคล เป็นฝ่ายผู้ต้องหาที่ให้การเป็นประโยชน์ ที่ผ่านมาไม่มีการร้องขอให้ช่วยคุ้มครองพยาน

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม คุ้มครองพยานในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในคดีนี้ พบว่าสถานะคดี นายบอส อยู่วิทยา ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 5 ข้อหา คือ

1.ขับรถขณะมึนเมา ซึ่งอัยการสั่งไม่ฟ้อง สถานะคดีระงับ (อายุความ 5 ปี) 2.ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด คดีขาดอายุความ สถานะคดีระงับ (อายุความ 1 ปี) 3.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย คดีขาดอายุความ สถานะคดีระงับ (อายุความ 1 ปี) 4.ขับรถชนแล้วหนี คดีขาดอายุความ สถานะคดีระงับ (อายุความ 5 ปี) และ 5.คดีขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง (อายุความ 15 ปี)

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า พยานในสำนวนคดีนี้ ที่ใช้อ้างอิงประกอบการแจ้งข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ เป็นพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนพยานบุคคลอื่นในสำนวนคดี ก็เป็นพยานฝ่ายผู้ต้องหา ที่ให้การเป็นประโยชน์แก่ผู้ต้องหา

Advertisement

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ดังนั้น การร้องขอคุ้มครองพยาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น พยานที่ได้ไปให้ข้อเท็จจริงกับพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และปรากฏข้อเท็จจริงว่าพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย หรือ ถูกข่มขู่คุกคาม ก็สามารถร้องขอคุ้มครองความปลอดภัย ได้ดังนี้

1.พยานสามารถร้องขอต่อพนักงานสอบสวน สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด เพื่อจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองความปลอดภัย

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า 2.พนักงานสืบสวน พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือสำนักงานคุ้มครองพยาน อาจจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยได้ ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากพยาน

Advertisement

แต่ที่ผ่านมาไม่มีพยานในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอคุ้มครองพยาน หรือ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ประสานมายัง สำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิฯ เพื่อพิจารณาจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองความปลอดภัย

“หากพยานในคดีมีพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัย พยานสามารถร้องขอคุ้มครองความปลอดภัยได้ โดยสำนักงานคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิฯ พร้อมที่จะจัดให้พยานเข้าสู่มาตรการคุ้มครองพยานได้” นายวัลลภ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image