เด็กไทยคว้ารางวัลที่ 1 เวที ‘วิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน’ ครั้งที่ 2

นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า จากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยการผนึกกำลังของ อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 25-29 กรกฎาคม 2559 ที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้มีเยาวชนจาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมแข่งขันและแสดงผลงานกว่า 41 โครงงาน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาลาว และไทย

ผลปรากฏว่า เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาได้ 2 รางวัล ทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในสาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป จากโครงงาน “การศึกษาผลการประยุกต์นิวเมติกส์ (ลม) และระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการล้างแอร์ด้วยเครื่องล้างแอร์อัตโนมัติ” ผลงานของนายธีรภัทร์ สนองญาติ และนายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ส่งผลงานเข้าประกวดในขณะศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) จากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากโครงงาน “การเพิ่มผลผลิตของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพ โดยใช้สารสกัดจากพืชท้องถิ่น” ของนางสาวไพรินทร์ ชัยมณี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และนายภูริพงษ์ ทังสมบัติ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น

“กิจกรรมนี้ อพวช. และสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ ริเริ่มขึ้นเพื่อหาเวทีให้เยาวชนในกลุ่มอาเซียนได้มีเวทีประกวดโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เทียบเท่างานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ในระดับโลก โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Grade 7-9) มีสาขาเดียว คือ วิทยาศาสตร์ทั่วไป และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Grade 10-12) มี 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และนวัตกรรมสร้างสรรค์ (วิทยาศาสตร์ประยุกต์) การได้รับรางวัลของเยาวชนไทยในครั้งนี้ จึงถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับอาเซียน แต่สิ่งที่ได้ ประเทศไทยได้ในภาพใหญ่กว่านั้นคือ การเป็นผู้นำในภูมิภาคในการจัดที่ส่งเสริมให้เยาวชนอาเซียนได้ใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สร้างสรรค์แนวคิดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถนำไปบูรณาการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน ในประเทศของตน ตลอดจนในภูมิภาคของเราได้” นางกรรณิการ์ กล่าว

นายธีรภัทร์ สนองญาติ ผู้คว้ารางวัลที่ 1 ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กล่าวถึงรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ว่า ดีใจและภูมิใจมากที่โครงงานวิทยาศาสตร์ที่ตนและเพื่อนพัฒนาขึ้นสามารถคว้ารางวัลที่ 1 มาได้ และขอขอบคุณอาจารย์สาธิต อธิวาส อาจารย์ที่ปรึกษาที่ทุ่มเทกับพวกตนมาตลอด 3 ปี โดยโครงงานนี้จะเป็นการใช้ระบบนิวเมติกส์หรือลมในการขับเคลื่อนส่วนต่างๆ ของเครื่องล้างแอร์อัตโนมัติที่พวกตนประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งมีหัวฉีดล้างขนานกับแผงคอยล์แอร์ ควบคุมสั่งการด้วยภาษา C ผ่านกล่องควบคุม เครื่องล้างแอร์อัตโนมัตินี้สามารถปรับระดับความสูงได้ถึง 4 เมตร และปรับระดับตามขนาดความกว้างของแอร์ได้ ที่สำคัญหัวฉีดยังทำงานได้แบบทรีอินวัน (Three in one) คือ ฉีดน้ำยา ฉีดน้ำล้าง และเป่าลมให้แห้งได้ การใช้เครื่องนี้มาช่วยในการล้างแอร์นอกจากจะทำให้สะดวกแล้ว ยังประหยัดทั้งเวลา น้ำ ไฟ และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Advertisement

ด้านนายภูริพงษ์ ทังสมบัติ แชมป์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวว่า โครงงานนี้เกิดจากความตั้งใจของตนและเพื่อนที่ต้องการจะช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะพันธุ์แป้นรำไพ โดยเริ่มต้นพวกตนได้เข้าไปศึกษาถึงสาเหตุที่ทำให้มะนาวให้ผลผลิตต่ำ พบว่า สาเหตุแรกเกิดจากแมลงเข้าทำลาย ทำให้มะนาวเกิดบาดแผล ส่งผลให้เชื้อโรคเข้าไปได้ และทำให้เกิดโรคพืช เช่น โรคแคงเกอร์ (Citrus Canker) พวกตนจึงได้ทดลองนำต้นน้ำนมราชสีห์มาสกัดหยาบ แล้วนำไปกำจัดแมลงที่เข้ามาทำลาย เช่น หนอนชอนใบ เป็นต้น พบว่าสามารถกำจัดแมลงที่เข้ามาทำลายได้ดี ส่วนสาเหตุที่ 2 เป็นเรื่องของลักษณะทางชีววิทยาของดอกมะนาว ซึ่งปกติจะมีสีขาวและมีกลิ่นอ่อน อีกทั้งไม่ใช่ดอกสมบูรณ์เพศที่สามารถผสมเกสรเองได้ พวกตนจึงคิดหาวิธีล่อให้แมลงมาช่วยในการผสมเกสร โดยใช้สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากกระเพราป่า ซึ่งมีกลิ่นหอมที่แมลงชอบ จึงช่วยล่อให้แมลงเข้ามาผสมเกสรให้ดอกมะนาวได้

น.ส.ไพรินทร์ ชัยมณี สมาชิกอีกคนของทีม กล่าวต่อว่า ผลงานของพวกตนสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรได้ จากเดิมที่ติดผลร้อยละ 33.47 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85.71 ซึ่งเป็นการเก็บสถิติจากแปลงที่เพาะปลูกจริงของเกษตร ล่าสุดพวกตนยังได้พัฒนาสารสกัดหยาบจากต้นน้ำนมราชสีห์มาเป็นผลิตภัณฑ์ “ผงน้ำนมราชสีห์” เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน และได้แจกจ่ายให้เกษตรกรในท้องถิ่นนำไปทดลองใช้แล้ว

13838034_10210660116167255_350415363_o

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image