สธ.เปิดรับทดสอบ”การกลายพันธุ์”ในผลิตภัณฑ์สุขภาพลดการส่งตรวจ ตปท.

สธ.เปิดรับทดสอบ “การกลายพันธุ์” ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อผู้ประกอบการ ลดการส่งตรวจ ตปท.

วันที่ 5 สิงหาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การทดสอบการกลายพันธุ์ (Mutagenicity studies) เป็นการทดสอบสารเคมีเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารพันธุกรรม ซึ่งสารเคมีที่ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ต่อเซลล์ร่างกายอาจทำให้เซลล์ถูกพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ในทำนองเดียวกันถ้าการกลายพันธุ์เกิดขึ้นในเซลล์สืบพันธุ์อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมได้ ปัจจุบันข้อมูลการทดสอบการกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย การทดสอบการเกิดไมโครนิวเคลียส และการทดสอบความผิดปกติของโครโมโซม เป็นหนึ่งในข้อมูลที่ถูกใช้เป็นเกณฑ์ ในการประเมินความปลอดภัยของสารเคมี ยา เครื่องมือแพทย์ และอาหาร ที่มีหน่วยงานหลักในการใช้ข้อมูลเพื่อประเมินอยู่ 2 หน่วยใหญ่ๆ ได้แก่ Environmental protection Agency (EPA) และ Food and Drug Administration (FDA) เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร จึงได้มีการพัฒนาห้องปฏิบัติการด้านการทดสอบการกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย(Mutagenicity studies) ตามแนวทาง OECD Guideline for testing of chemical: Bacterial Reverse Mutation Test (TG 471) และพร้อมเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์การทดสอบการกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรีย ทั้งในสภาวะที่มีและไม่มีเอนไซน์จากตับหนู(S9 mixture) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง และยา ภายในประเทศสามารถนำไปยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) โดยผู้ประกอบการสามารถส่งผลิตภัณฑ์มาทดสอบที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และในปี 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเร่งผลักดันการทดสอบดังกล่าวให้ได้รับการรับรองตามระบบคุณภาพ OECD GLP ทำให้สามารถนำรายงานผลการทดสอบไปขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในประเทศสมาชิก OECD กว่า 45 ประเทศทั่วโลก

“ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่เปิดให้บริการทดสอบการกลายพันธุ์ในเชื้อแบคทีเรียอย่างเป็นทางการ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง และยา ต้องส่งไปทดสอบที่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ และพบว่า ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Nutraceutical ที่เป็นเครื่องสำอาง ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 184,092 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 5,500 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก และลดการขาดดุลการค้ากับต่างประเทศได้ โดยผู้เข้ารับบริการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เบอร์โทรศัพท์ 02-951-0000 ต่อ 99371” นพ.โอภาส กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image