สบส.เตรียมเปิด! ไลน์ กระซิบสุขภาพ สร้าง ‘เอชคิว’ คนไทยป้องภัยสุขภาพตัวเอง

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมีบุคลากรสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม 2,103 คน

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า สบส.ได้ให้ความสำคัญในการดูแลมาตรฐานของระบบบริการสุขภาพทุกด้าน ตั้งแต่มาตรฐานอาคารสถานที่ของสถานพยบาบาลทั่วประเทศให้มีความปลอดภัย มีระบบการตรวจสอบคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการมีการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำผิด ดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลข้างเคียงอย่างทันท่วงที รวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เผชิญชะตากรรม มีการดูแลตรวจสอบมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการให้บริการผู้ป่วย กว่า 200,000 ชิ้นต่อปีและถ่ายทอดความรู้สุขศึกษาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองเป็น ทั้งนี้ ความรู้สุขภาพนั้นถือเป็นความฉลาดที่มีความจำเป็นในตัวบุคคล เรียกว่า เอชคิว (Health Quotient, HQ) เป็นตัวบ่งบอกศักยภาพการมีสุขภาพดีของประชาชน ที่ผ่านมาเราจะรู้จักแต่ ไอคิว (IQ) ความฉลาดทางสติปัญญา, อีคิว (EQ) ความฉลาดทางอารมณ์ แต่เอชคิวยังรู้จักกันน้อยและเป็นตัวที่สร้างความเหลื่อมล้ำสุขภาพมากที่สุด เพราะเพียงแค่รู้แต่ไม่ปฏิบัติ ทั้งที่ใช้การลงทุนต่ำที่สุดและที่สำคัญขณะนี้คนไทยเข้าใจผิดอยู่มากว่า การดูแลสุขภาพไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ยังคิดว่าเป็นหน้าที่ของบุคคลอื่น เช่น หมอ พยาบาล และอสม.จึงไม่ได้ทำหน้าที่คุ้มครองสุขภาพตัวเอง

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า ในการสร้างเอชคิว กรมสบส.จะเน้นหนักใน 4 เรื่อง คือ การจัดทำระบบโซเชียลเฮลท์มีเดีย (Social Health Media) คือ ไลน์กระซิบสุขภาพยุค 4.0 โดยจะตั้งทีมมืออาชีพด้านสุขภาพร่วมกันกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่มาจากสื่อโซเชียลมีเดียทุกแขนง โดยเฉพาะไลน์ ซึ่งมีการใช้และแชร์ข้อมูลกันมากที่สุดในขณะนี้ โดยข้อมูลที่ผ่านมาทางไลน์ทุกเรื่องจะต้องมีการสอบเทียบความถูกต้องจากผู้ประกอบวิชาชีพและทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำน่าเชื่อถือก่อนจะส่งกลับไปถึงประชาชนตามช่องทางโดยเฉพาะการผ่าน อสม.ที่ดูแลประชาชน 10-15 หลังคาเรือนต่อคนแทนการเคาะประตูบ้าน โดยจะทำให้เร็วที่สุด การให้ความรู้ในโรงเรียนเน้นความรู้สุขบัญญัติ 10 ประการ, ในชุมชนจะดำเนินการตำบลจัดการสุขภาพเพื่อให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ลดเสี่ยง ลดโรค
ประการสุดท้าย คือ การพัฒนาระบบเทเลเมดิซิน (Tele medicine) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียมหรือระบบอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อระหว่างแพทย์กับสถานบริการ เช่น สุขศาลาพระราชาทาน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ทำให้ประชาชนทุกหัวระแหงสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ข้อมูลสุขภาพที่แปลงผ่านเป็นภาษาถิ่นเข้าใจง่าย ซึ่งการดำเนินการเหล่านี้จะตอบโจทย์การคุ้มครองผู้บริโภคในยุค 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image