จุรินทร์ หนุนขยาย’ลาคลอด’แม่ 120 วัน พ่อ 15 วัน ทั้งรัฐ-เอกชน หวังเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ “การเสริมพลังบทบาทหญิงและชาย เพื่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ” ที่ห้องประชุม ชั้น 2 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ภายหลังก่อนการเปิดงาน นายจุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ ว่า ปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้ ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 98 วัน ประมาณ 3 เดือน และผู้ชายสามารถที่จะลางาน เพื่อไปช่วยเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน สำหรับผู้ชายนั้นบังคับให้เฉพาะในส่วนของภาคราชการ ภาคเอกชน ยังไม่ได้บังคับใช้

แต่วันนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของ 27 องค์กร ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของประเทศในเรื่องของสิทธิการเลี้ยงดูบุตรทั้งของมารดาและของบิดา การลงนามประกาศเจตนารมย์ วันนี้เป็นไปด้วยความสมัครใจที่จะปฏิบัติเกินกฎหมายกำหนด ในทางบวกคือแทนที่จะปฏิบัติตามกฏหมายแค่ให้มารดาลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน ก็จะขยายไปเป็น 120 วัน คือจาก 3 เดือนเป็น 4 เดือน สำหรับ 27 องค์กร ที่มาลงนามร่วมกัน สำหรับพ่อบังคับเฉพาะภาคราชการ แต่ที่มาลงนามวันนี้มีภาคเอกชนด้วย แปลว่าต่อไปนี้เอกชนที่มาลงนามจะเปิดโอกาสให้พ่อสามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดได้อีก 15 วัน โดยไม่จำเป็นต้องลาต่อเนื่อง อาจใช้เป็นการลาสะสม เพื่อความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวเพื่อที่จะเลี้ยงดูบุตรให้ดีที่สุด

“เพราะผลการศึกษาบอกชัดว่าอย่างน้อยที่สุดบุตรแรกเกิดควรจะได้รับนมแม่ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่าหกเดือน แต่เราก็ลาคลอดได้แค่ 98 วันโดยการประกาศเจตนารมย์ครั้งนี้ขยายเป็น 120 วัน”รองนายกฯ กล่าว

Advertisement

รองนายกฯ กล่าวว่า ถัดจากนี้ไปจะมีองค์กรเพิ่มเติมอีกหลายองค์กรที่จะเข้ามาร่วม ตนให้เป็นนโยบายของกระทรวงพม. ว่าให้ขยายองค์กรต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการมากขึ้นจนกว่าในอนาคตกฎหมายจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัยและเอื้อประโยชน์ต่อการเลี้ยงดูบุตรหลังคลอดของมารดาและบิดามากขึ้น

“สำหรับองค์กรต่อไปอย่างน้อยพรรคประชาธิปัตย์ก็มีสำนักงานเลขาธิการที่มีพนักงานเจ้าหน้าที่อยู่จำนวนมากเพราะฉะนั้นประชาธิปัตย์ก็จะเป็นอีกองค์กรถัดไปที่จะมาร่วมลงนามในการที่จะขยายสิทธิ์สำหรับผู้ที่เป็นแม่และผู้ที่เป็นพ่อในการเปิดโอกาสเข้ามาร่วมเลี้ยงดูบุตร” รองนายกฯ กล่าว

รองนายกฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะมาชดเชย เพื่อแก้ปัญหาได้ก็คือการที่ได้มีการกำหนดให้เป็นส่วนราชการไทย สถานประกอบการต้องมีมุมห้องหรือสถานที่เปิดโอกาสให้มารดาสามารถนำบุตรแรกเกิดไปให้นมแม่ที่สถานที่ทำงานได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะพ้นความจำเป็น ก็เป็นภาคบังคับที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image