เอ็นจีโอห่วง สปสช.แก้กม.แยกเงินเดือนจากงบบัตรทอง หวั่นกระทบลูกจ้าง1.3แสนคน

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ว่า หากแยกเงินเดือน โดยตัดมาตรา 46 (2) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่ระบุว่าการจัดสรรงบให้หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเงินเดือน และค่าตอบแทนบุคลากร ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะเงินเดือนไม่ได้เป็นส่วนข้าราชการในหน่วยบริการเท่านั้น แต่หมายถึงเงินค่าตอบแทนของบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข
(พกส.) ด้วย

“หากมีการแยกเงินเดือนออกจริง จะไม่ใช่แค่เงินส่วน 40,000 ล้านบาท แต่ยังมีอีก 20,000 ล้านบาท สำหรับลูกจ้างชั่วคราว และ พกส.แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่พูดถึงส่วนนี้ ลูกจ้างชั่วคราว และ พกส.มีอยู่ในระบบสุขภาพกว่า 130,000 คน จะทำอย่างไร หากแยกเงิน 4 หมื่นล้านบาท อีก 2 หมื่นล้านบาท ต้องไปขอสำนักงบประมาณเพิ่ม จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ตามขอ คนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงหรือไม่” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ปกติงบประมาณหมวดเงินเดือน ค่าตอบแทนทั้งหมดมี 60,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าจ้างข้าราชการ บุคลากรใน สธ. 4 หมื่นล้านบาท และเงินส่วนลูกจ้างชั่วคราว พกส.อีก 2 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา สปสช.ได้ทำข้อตกลงร่วมกับสำนักงบประมาณในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน โดยจะเป็นเงินก้อนให้ สธ.4 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินค่าจ้างที่เหลือจะอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว หากต้องแยก เงินเหมาจ่ายจะน้อยลง และงบเงินเดือนจะได้เพียง 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือก็ต้องไปเจรจาของบฯ เพิ่มเติม เรื่องนี้จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ที่สำคัญค่าตอบแทนไม่ได้จ่ายเฉพาะลูกจ้างชั่วคราว และ พกส.เท่านั้น แต่ยังจ่ายให้หน่วยบริการอื่นที่ไม่สังกัด สธ. อาทิ คลินิกชุมชนอบอุ่น 200 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 100 แห่ง ที่รับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองถึง 3 ล้านคน

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงใน สธ.กล่าวว่า ข้อเท็จจริง คือ เงินในส่วนจ่ายค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราว และ พกส.2 หมื่นล้านบาทเป็นเงินในส่วนงบบำรุง ซึ่งเป็นเงินของโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่แปรมาจากงบบัตรทอง งบประกันสังคม และงบสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีการดำเนินการเช่นนี้มานาน กระทั่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่าใช้งบฯ ผิดประเภท จึงมีแนวคิดแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เพื่อทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ.ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.กล่าวว่า หากทำเรื่องนี้ต้องมีผลการศึกษาอย่างรอบด้านแน่นอน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image