สปสช.จัดงบ ‘เหมารายหัว’ ใหม่ เดิมเท่ากันทั่วประเทศ เป็น ‘ขั้นบันได’ รพ.ห่างไกลได้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ดสปสช.ว่า บอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61 เฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มร้อยละ 2.67 ส่วนค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขย้ายไปตั้งที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดผ่านการหารือร่วมระหว่าง สปสช.และ สธ.แล้ว โดยจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้น ทั้งการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ลดระยะเวลารอคิวผ่าตัด การได้รับบริการแพทย์แผนไทย และการได้รับการส่งเสริมป้องกันโรค และ สธ. สปสช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จะทำงานร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว เป็นต้น ขณะที่การออกแบบการจัดสรรงบฯจะทำให้หน่วยบริการมีความคล่องตัวในการให้บริการมากขึ้น และเพิ่มกลไกให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ได้รับทั้งสิ้น 165,773.0144 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ 42,307.234 ล้านบาท ดังนั้น คงเหลืองบกองทุนที่ส่งให้ สปสช. 123,465.7804 ล้านบาท สำหรับ งบ 6 รายการคือ 1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 48.8029 ล้านคน 151.770.6746 ล้านบาท 2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 291,900 ราย 3,122.408 ล้านบาท 3.ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 52,911 ราย 7,529.2353 ล้านบาท 4.บริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง รวมจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 2,822,600 ราย 960.409 ล้านบาท 5.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 173 แห่ง 1,490.2875 ล้านบาท 6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 150,000 คน 900 ล้านบาท

ในส่วนของการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 ที่ได้รับ 3,109.87 บาทต่อประชากรนั้น คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน และคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้พิจารณาแล้ว แบ่งเป็น 8 รายการ ดังนี้ 1.บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป 1,137.58 บาท 2.บริการผู้ป่วยในทั่วไป 1,090.51 บาท 3.บริการกรณีเฉพาะ 315.98 บาท 4.บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 405.29 บาท 5.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 16.13 บาท 6.บริการแพทย์แผนไทย 10.77 บาท 7.ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน 128.69 บาท และ 8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 4.92 บาท

“เกณฑ์การจัดสรรงบฯบัตรทองที่มีการปรับเปลี่ยนในปีนี้ อาทิ มีการยกเลิกการจ่ายเงินล่วงหน้าให้หน่วยบริการ เนื่องจากมีปัญหาโดยเฉพาะเรื่องที่หน่วยบริการถูกเรียกเงินคืนกลับในภายหลัง นอกจากนี้ มีการจัดสรรงบฯแบบขั้นบันได โดยหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่กันดาร ประชากรน้อยแต่จำเป็นต้องมีหน่วยบริการจะได้รับการจัดสรรงบฯรายหัวมากกว่าปกติ มีการกันเงินไว้ไม่เกิน 7,000 ล้านบาทสำหรับการปรับเกลี่ยแบบขั้นบันได ปัจจุบันมีรพ.สังกัดสธ.เข้าเกณฑ์นี้ 200 แห่งจากทั้งหมด 1,000 แห่ง และการบริหารจัดการค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และป้องกันโรคนั้น ได้มีการกันเงินไว้ปรับเกลี่ยระดับประเทศ เขต จังหวัด จำนวนไม่เกิน 1,900 ล้านบาท” นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image