“นิมิตร์” ห่วงแก้กม.สปสช.ปมแยกเงินเดือน หวั่นกระทบลูกจ้างชั่วคราว 1.3 แสนคน

นิมิตร์ เทียนอุดม

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และอดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กล่าวถึงกรณีแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) ว่า มีความเป็นห่วงว่า หากมีการแยกเงินเดือน โดยการตัดมาตรา 46 (2) ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่ระบุ การจัดสรรงบให้หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเงินเดือน และค่าตอบแทนบุคลากร ตรงนี้น่าเป็นห่วง เพราะเงินเดือนไม่ใช่แค่ข้าราชการในหน่วยบริการนั้นๆ แต่หมายถึงเงินค่าตอบแทนของบุคลากรที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว พนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.)ด้วย

“หมายความว่าหากมีการแยกเงินเดือนออกจริง จะไม่ใช่แค่เงินส่วน 40,000 ล้านบาท แต่ยังมีอีก 20,000 ล้านบาทสำหรับลูกจ้างชั่วคราว และพกส. แต่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไม่พูดถึงส่วนนี้ พูดเพียงแยกเงินเดือนส่วนข้าราชการเท่านั้น แต่ในส่วนลูกจ้างชั่วคราว และพกส.ซึ่งมีอยู่ในระบบสุขภาพอีกกว่า130,000 คน จะทำอย่างไร เพราะหากแยกเงินเฉพาะ4 หมื่นล้านบาท อีก2 หมื่นล้านบาทต้องไปขอสำนักงบประมาณเพิ่ม ซึ่งจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ตามขอ แบบนี้ก็ทำให้คนกลุ่มนี้เสี่ยงหรือไม่” นายนิมิตร์ กล่าว

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่มีการแยกเงินเดือนอะไรทั้งสิ้น ขอให้อย่าเพิ่งกังวล เพราะหากจะทำอะไรก็ต้องมีผลการศึกษาอย่างรอบด้านแน่นอน

แหล่งข่าวกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ระบุว่า จริงๆงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาทสำหรับลูกจ้างชั่วคราว เมื่อได้มาจะถูกบรรจุอยู่รวมกับหมวดเงินบำรุง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบเงินบำรุงของพ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งคนละส่วนกับงบ 4 หมื่นล้านบาทที่เป็นเงินเดือนของข้าราชการ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณาด้วย เพราะจะสร้างความแตกแยกได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image