ม.รามฯ ยอมรับ น.ศ.จบน้อย-ตกค้างเยอะ แม้ยืดเวลาเรียน 8 ปี เหตุมีปัญหา ‘เงิน-เวลา’

นางสุวรรณี เดชวรชัย ผู้อำนวยการสำนักบริการทางวิชาการและทดสอบประเมินผล มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ม.ร.) เปิดเผยว่า สำหรับข้อมูลผู้ไม่สำเร็จการศึกษาตามเกณฑ์ที่หลักสูตรกำหนดนั้น ในส่วนของ ม.ร.ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ เนื่องจาก ม.ร.เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ไม่สามารถนับยอดสถิติออกมาได้ชัดเจน เนื่องจากนักศึกษาของ ม.ร.มีความแตกต่างจากที่อื่น คือเมื่อนักศึกษาไม่ลงทะเบียนเรียนต่อเนื่อง 2 ภาคเรียน เมื่อถึงภาคเรียนที่ 3 ก็จะหมดสภาพการเป็นนักศึกษา แต่หากประสงค์กลับเข้ามาเรียนในระบบก็จะต้องเริ่มเรียนใหม่ ได้รหัสนักศึกษาใหม่ แต่สามารถใช้ระบบเทียบโอนหน่วยกิตได้ อีกทั้ง ม.ร.ให้ระยะเวลาในการเรียนถึง 8 ปี จึงทำให้ระบบนักศึกษาเป็นแบบหมุนเวียน ไม่มีการคัดออก นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และการเงิน ดังนั้น เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แล้วนักศึกษาของ ม.ร.จะมีอัตราการจบที่น้อยกว่ามหาวิทยาลัยอื่น

นางสุวรรณีกล่าวต่อว่า สำหรับคณะยอดนิยมของ ม.ร.ที่มีผู้สนใจเข้าเรียนมากที่สุด ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะนิติศาสตร์ ตามลำดับ เนื่องจากผลงานของบัณฑิตที่จบจากคณะดังกล่าวเป็นที่ปรากฏในสังคมอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นตุลาการ ผู้พิพากษา หรืออัยการที่มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่มาจากบัณฑิตของ ม.ร. อีกทั้งเนติบัณฑิตก็สอบได้คะแนนในลำดับต้นๆ ของประเทศ หรือคณะบริหารธุรกิจที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือเอ็มบีเอ นักศึกษาจะได้เรียนแบบฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง ทำให้มหาบัณฑิตของ ม.ร.เป็นที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงาน ทำให้มีผู้สนใจเรียนจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีคณะมนุษยศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ กำลังเป็นที่นิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย ส่วนคณะที่มีผู้สนใจเข้าเรียนลดลงนั้น ม.ร.ไม่มีปัญหา เนื่องจากคณะวิทยาศาสตร์มีผู้เรียนน้อยอยู่แล้ว และ ม.ร.ไม่ได้รับนักศึกษาจำนวนมาก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของห้องปฏิบัติการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image