“ไพบูลย์” ซัด “วิษณุ” พูดเชียร์สมเด็จช่วง จี้หานักกม.ตีความผู้มีอำนาจเสนอชื่อพระสังฆราช

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า กรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะเพื่อแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ต้องเป็นไปตามกฎหมาย รัฐบาลมีหน้าที่เพียงตรวจสอบข้อมูลก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งนายวิษณุกำลังเลี่ยงประเด็นของผู้ที่ออกมาคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากมีมลทินปหลายประการ โดยก่อนนำชื่อสมเด็จพระราชาคณะขึ้นทูลเกล้าฯ ทำไมไม่ตรวจสอบว่าสิ่งที่ผู้คัดค้านนำข้อมูลมาเสนอนั้นมีข้อเท็จจริงแค่ไหน ทั้งๆ ที่การเสนอตั้งสมเด็จพระสังฆราชมีข้อขัดแย้งอยู่ ยังจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ อีกหรือ หากมีอะไรเกิดขึ้น นายกฯต้องเป็นผู้รับผิดชอบไม่ใช่รองนายกฯ

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ที่นายวิษณุออกมาพูดว่า “รัฐบาลมีหน้าที่รับเรื่อง และตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และไม่มีอำนาจในการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ที่ถูกเสนอชื่อ” เหมือนพูดเข้าทางอีกฝ่าย และเเสดงให้เห็นว่านายกฯทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์เท่านั้น เหมือนหมิ่นเกียรตินายกฯ ทั้งนี้ จากการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงพูดสอดรับกับฝ่ายที่หนุนให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชเหลือเกิน จึงอยากถามว่านายวิษณุ อยู่รัฐบาลเดียวกับนายกฯหรือไม่

นายไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 มาตรา 7 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกฯ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งชัดเจนอยู่แล้วว่าให้นายกฯ เป็นต้นเรื่อง และอำนาจอยู่ที่นายกฯ ว่าจะเสนอนามใคร ในห้วงเวลาใด ไม่ใช่ให้นายกฯ ทำหน้าที่เสนอขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วรับพระบรมราชโองการ หรือถ้ามีใครตีความหมายมาตรา 7 เป็นอย่างอื่น ต้องให้นักกฎหมายออกมาตีความให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องเถียงกันไปกันมา หรือหากยึดตามที่นายวิษณุพูดว่า ตามประเพณี มส.ต้องเป็นต้นเรื่องในการเสนอชื่อตั้งสมเด็จพระสังฆราช ก็ต้องไปแก้กฎหมายใหม่ เพราะตามประเพณีจริงๆ ต้องทำตามกฎหมายก่อนการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทั้งนี้ การเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ควรเคลียร์ หรือล้างมลทินผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้ชัดเจน เพราะไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำเรื่องมัวหมองไปให้เบื้องบนรับรู้ ที่สำคัญการเสนอชื่อจะเป็นเรื่องของคณะสงฆ์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะกฎหมายระบุชัดให้นายกฯ ซึ่งเป็นฆราวาสนำขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น ฆราวาสต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง

“การออกมาคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 นั้น ผม และเครือข่ายไม่ได้ออกมาคัดค้านเพื่อจะยกพระอาจารย์ของตนขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชอย่างที่นายวิษณุกล่าวอ้างแต่ออกมาค้านเพื่อปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ในข้อครหาที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ปกป้องพระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และไม่ปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่มีคำสั่งให้ปาราชิกพระธัมมชโย ที่สำคัญคือการออกมาปกป้องพระธรรมวินัย เพราะหากตั้งผู้ที่ไม่เหมาะสมขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระธรรมวินัยก็จะวิบัติตาม” นายไพบูลย์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image