สสส. จับมือมหิดลผนึกกำลัง ลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพคนอาเซียน

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล (สำนักงานเครือข่ายมหาวิยาลัยอาเซียนด้านการส่งเสริมสุขภาพ หรือ ASEAN University Network – Health Promotion Network – AUN-HPN) กับ สสส. พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการเพื่อควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อของประเทศไทย

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า จากการสำรวจภาวะสุขภาพคนไทยด้วยการตรวจร่างกายในปี 2557 เมื่อเทียบกับผลการสำรวจในปี 2552 พบว่าโรคกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นกว่า 1.5 ล้านราย และโรคความดันโลหิตสูงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านราย ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคหวาน มัน เค็ม อย่างจริงจัง แต่ยังพบผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นหลายล้านคนในช่วงเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา และมีภาวะแทรกซ้อนโรคกลุ่ม NCD อื่นตามมา เช่น โรคหัวใจขาดเลือดและโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะสิ่งแวดล้อมในสังคมได้เปลี่ยนไปตามสังคมโลกทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปสู่วิถีบริโภคนิยม

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ สสส. จัดทำข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพระดับภูมิภาค โดยจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยในเครือข่าย AUN-HPN ส่งเสริมบทบาทของสถาบันการศึกษาในการแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมงานวิจัย และการถ่ายทอดงานวิจัย สู่การพัฒนาเป็นนโยบายด้านส่งเสริมสุขภาพในระดับชาติ รวมทั้งการดำเนินการเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การบริโภคยาสูบ การขาดการออกกำลังกาย การบริโภคสุรา และการบริโภคเกลือ การรับประทานอาหารที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพ

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในระหว่างปี 2559-2562 สสส.จะผลักดันการสร้างศักยภาพของกลไกการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่ 30 เครือข่ายมหาวิทยาลัยใน 10 ประเทศอาเซียน เพิ่มผู้นำสร้างเสริมสุขภาพ สร้างนวัตกรรม และนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพในระดับอาเซียน โดยเฉพาะการสนับสนุนการพัฒนานโยบายมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ โดย สสส.สนับสนุนการพัฒนากลไกที่ยั่งยืนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนแบ่งปันและถ่ายทอดนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านการจัดการปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสู่นานาประเทศ โดยเชื่อมั่นว่า ผลจากความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของการขับเคลื่อนงานเชิงรุกด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image