หมอเด็ก แนะอ้อมกอดของครอบครัว ช่วยเยียวยาเด็กถูกกระทำความรุนแรงได้

ภาพประกอบ กอดลูก

หมอเด็ก แนะอ้อมกอดของครอบครัว ช่วยเยียวยาเด็กถูกกระทำความรุนแรงได้

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “การเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง” ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า เด็ก 0-6 ปีแรก สมองมีการสร้างเส้นใยประสาทเชื่อมโยงต่างๆ หากถูกกระตุ้นด้วยความกลัว เครียด ตกใจอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะการเห็นหน้าพ่อแม่หรือครูพี่เลี้ยงที่ทำร้าย ก็จะส่งผลระยะยาว ตั้งแต่พัฒนาการล่าช้า พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีความก้าวร้าว รู้สึกต่ำต้อย เติบโตมามีวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพต่ำ

อีกทั้งมีผลศึกษาพบความสัมพันธ์กับกลุ่มโรคไม่ติดต่อ อย่างเส้นเลือดในสมอง เช่น ความดัน เบาหวาน และตายก่อนวัยอันควร อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความรุนแรงในข่าวถือเป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เด็กจะถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวมากกว่า

ขณะที่ ผศ.พญ.แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ คลินิกและศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ม.มหิดล กล่าวว่า การที่เด็กคนหนึ่งได้รับความรุนแรง นอกจากส่งผลต่อระบบร่างกายทั้งหมดแล้ว ที่สำคัญคือ ยังส่งผลต่อพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น นอนผวา กินน้อยลง การขับถ่ายมีปัญหา และส่งผลต่อการเรียนรู้และสมาธิของเด็ก ทำให้ด้อยการพัฒนาหรือไม่ทำงาน อย่างไรก็ตาม บทบาทพ่อแม่ในการเยียวยาเป็นสิ่งสำคัญ คอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมอารมณ์ลูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ด้วยการพูดคุยอย่างเข้าใจและมีสัมพันธภาพ หรือถามด้วยการเล่นบทบาทสมมุติ จะได้คำตอบ

ผศ.พญ.แก้วตา กล่าวอีกว่า ส่วนสิ่งที่จะช่วยเยียวยาบาดแผลในใจเด็ก คือความรักความอบอุ่นการกอดสัมผัสจากพ่อแม่ สำหรับตัวครูก็ต้องสำรวจความพร้อมตัวเองก่อนสอนเด็ก หากมีปัญหาชีวิตมีความเครียดต้องแจ้งผู้บริหาร ซึ่งก็ต้องมีระบบรองรับดูแลครูด้วย นอกจากนี้ครูจัดกิจกรรมเหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะเด็กเล็กเป็นวัยอยากรู้อยากเห็น การเรียนรู้ต้องเน้นการละเล่นการสัมผัสปฏิบัติ ไม่ใช่บังคับให้เด็กนั่งนิ่งๆ เขียนอ่าน

Advertisement
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image