แฟลชม็อบแรงงานไทย ยื่น 7 ข้อเสนอต่อประกันสังคม ทวงถามเงิน 2 ล้านล้านของผู้ประกันตน

งานเข้าอีก แฟลชม็อบแรงงานไทย ยื่น 7 ข้อเสนอต่อประกันสังคม ทวงถามเงิน 2 ล้านล้านของผู้ประกันตน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) เข้ายื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวัน “งานที่มีคุณค่าสากล” ปี 2563 ต่อ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับหนังสือแทน ท่ามกลางขบวนแฟลชม็อบผู้ประกันตนของประกันสังคมราว 80 คน ร่วมถือธงสีสัญลักษณ์ ป้ายรณรงค์ จำนวนหนึ่งแต่งกายด้วยชุดคลุมท้อง แต่งกายเป็นผู้สูงอายุลากรถเข็นลูกกรง ที่มีป้ายติดกำกับว่า “เอกสารเข้าชื่อฟ้องรัฐบาล” โดยภายในบรรจุเอกสารชื่อจำนวน 10,000 รายชื่อ นอกจากนี้ยังมีรถขยายเสียงเพื่ออ่านแถลงการณ์การปฏิรูปประกันสังคม และมีกำหนดการสิ้นสุดในเวลา 12.30 น.

นายสมพร กล่าวว่า วันที่ 7 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันงานที่มีคุณค่า”(World Day for Decent Work) หรือวัน Decent Work ซึ่งที่ประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้กำหนดขึ้นในการประชุมใหญ่ครั้งที่ พ.ศ.2547 ขบวนการแรงงานทั่วโลกถือเป็นวันสำคัญ และออกมาจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง โดยเชื่อว่างานที่มีคุณค่าจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้น อย่างมั่นคงยั่งยืน

“เนื่องจากสภาพปัญหาการจ้างงานและระบบประกันสังคมของประเทศไทย ยังไม่สามารถที่จะเป็นหลักประกันและนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้นมาได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปรับปรุง อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานให้ดีขึ้น สอดคล้องกับหลักการของไอแอลโอ คสรท. และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล จำนวน 7 ข้อ” นายสมพรกล่าว

Advertisement

นายสมพร กล่าวว่า ข้อเรียกร้อง 7 ข้อเนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล ปี พ.ศ.2563 ได้แก่ 1.รัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ แบ่งเป็นด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย และด้านการศึกษา ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2.รัฐต้องจัดหางานให้ประชาชนวัยทำงานมีงานทำอย่างทั่วถึง จัดหาอาชีพให้กับประชาชนที่ออกจากงาน และ มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ไม่มีงานทำอย่างเพียงพอ และยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงทุกรูปแบบ 3.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

“โดยข้อ 3.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ 3.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง มีระบบการปรับค่าจ้างทุกปีไม่น้อยกว่าอัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐต้องเร่งดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 425 บาท ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน 3.3 รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้แพงเกินจริง” นายสมพร กล่าว

นายสมพร กล่าวต่อว่า 4.รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร สำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริง รวมทั้งปรับสิทธิประโยชน์ ให้เพียงพอตามความจำเป็นให้กับผู้ ประกันตนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ประกาศใช้อนุบัญญัติทั้งหมดที่ออกตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคมแก้ไขปี 2558 และดำเนินการเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมแทนชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ ค.ส.ช.เป็นกรณีเร่งด่วน 5.รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม สัดส่วนร้อยละ 5 เท่ากันกับลูกจ้าง นายจ้าง และให้เลขาธิการประกันสังคมเร่งดำเนินการให้รัฐบาลนำเงินสมทบค้างจ่าย จำนวน 87,737 ล้านบาท มาคืนให้กับประกันสังคมทั้งหมดเป็นกรณีเร่งด่วน 6.ให้ประกันสังคมจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อให้บริการผู้ประกันตน และ 7.ให้ประกันสังคมจัดสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ประกันตน

ทั้งนี้ นายสมพร กล่าวว่า เพื่อให้ข้อเรียกร้องเกิดการแก้ไขปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้อง โดยให้มีตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมเป็นคณะทำงานประกอบด้วย คสรท. และ สรส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาตามข้อเรียกร้อง รัฐบาลจะให้ความสำคัญ และพิจารณาแก้ไขปรับปรุงในลำดับต่อไป

“ประกันสังคมควรจัดสวัสดิการให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ประกันตน ที่มีหลักการเฉลี่ยทุกข์สุขของแรงงาน ทั้งในขณะทำงาน ว่างงาน ไปจนถึงไม่ได้ทำงาน ดังนั้น สวัสดิการต่าง ๆ ต้องครอบคลุมทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติและต้องเพียงพอ แต่ปัจจุบันรัฐบาลปล่อยให้ประชาชน ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง นายทุน โดยเฉพาะในการระบาดของโควิด-19 เห็นได้ว่าประกันสังคมช่วยเหลือผู้ประกันตนไม่เพียงพอ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของประกันสังคม ที่ต้องไปจัดสวัสดิการให้เพียงพอ ด้วยเงินกองทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท ต้องเอามาบริหารให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และหลังจากการเดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้จะต้องเกิดการปฏิรูปการจ้างงานและประกันสังคม” นายสมพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image