ต่อยอดศาสตร์พระราชา ‘น้ำใต้ดิน’

ศาสตร์พระราชา 'น้ำใต้ดิน'

ต่อยอดศาสตร์พระราชา ‘น้ำใต้ดิน’

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานแนวคิด “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นหนทางรอดแก่เกษตรกรไทย จากที่เคยนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีความเสี่ยงสูง จากภัยแล้ง ศัตรูพืช ราคาตกต่ำ ให้หันมาปลูกพืชผสมผสาน เพื่อกระจายความเสี่ยง ควบคู่กับการทำโคก หนอง นา เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี

ถูก “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ดั่งความตอนหนึ่งในพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำมาซึ่ง “โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน” ดำเนินการโดย สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

นายวีระวัฒน์ อ่วมสร้อย ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการผลิต โครงการเอส 1 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เผยว่า ปตท.สผ.มีนโยบายดูแลชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน 3 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร สุโขทัย และพิษณุโลก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เราจึงมีโครงการส่งเสริมและพัฒนาระบบกสิกรรม ด้วยศาสตร์พระราชาสู่ความยั่งยืน ในการส่งเสริมองค์ความรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เลี้ยงสัตว์ และบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสม เริ่มทำตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา แต่ด้วยปัญหาภัยแล้งหนักในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรกรรมได้อย่างต่อเนื่อง เราจึงมีโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน เริ่มในปี 2563 นี้ นำร่องพื้นที่ที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสานอยู่แล้ว เพิ่มเติมการขุดน้ำใต้ดินมาใช้ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี

น้ำใต้ดิน ระบบเปิด คือ ขุดให้ลึก
น้ำใต้ดิน ระบบเปิด คือ ขุดให้ลึก
น้ำใต้ดิน ระบบผสมผสาน คือนำพื้นที่ที่ทำโคก หนอง นาอยู่แล้ว มาขุดเจาะช่องในแนวดิ่งให้ลึกถึงชั้นหิน
น้ำใต้ดิน ระบบผสมผสาน คือนำพื้นที่ที่ทำโคก หนอง นาอยู่แล้ว มาขุดเจาะช่องในแนวดิ่งให้ลึกถึงชั้นหิน
ภาพประกอบ จากสื่อการเรียนการสอนกระทรวงศึกษาธิการ

น้ำใต้ดิน ไม่ใช่ น้ำบาดาล

Advertisement

ขณะที่ นายสมศักดิ์ การเจริญกุลวงศ์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร เผยว่า ลักษณะพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรเป็นที่ลุ่มและดอน ฤดูฝนมีปัญหาน้ำท่วม ฤดูร้อนก็มีปัญหาน้ำแล้ง ซึ่งตามศาสตร์พระราชาแนะนำว่า หากต้องการเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี ต้องขุดบ่อลึก 3.6 เมตรขึ้นไป เพราะน้ำผิวดินจะระเหยวันละ 1 เซนติเมตร แต่ปรากฏว่าพื้นที่จังหวัดแพงเพชรน้ำลงเร็วกว่าจนแล้ง จึงต้องเสริมด้วยการเจาะหน้าดินให้ลึกขึ้น จึงมีโครงการดังกล่าว

ปฏิรูปที่ดินฯอธิบายธนาคารน้ำใต้ดินไม่ใช่การเจาะน้ำบาดาลมาใช้ เพราะการเจาะน้ำบาดาลต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และหากได้รับอนุญาตก็ต้องเจาะลึกลงไปเกิน 15 เมตร ขึ้นอยู่กับพื้นที่ อย่างบางพื้นที่ต้องเจาะ 80-100 เมตร ถึงจะเจอแหล่งน้ำบาดาลก็มี ส่วนน้ำใต้ดิน จะขุดหรือเจาะลึกไม่เกิน 10 เมตร ไม่ต้องขออนุญาต

ทั้งนี้ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน แบ่งการดำเนินงาน 3 ประเภท คือ 1.ระบบเปิด คือการขุดบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขุดก้นบ่อให้ลึกทะลุชั้นดินเหนียว รับและส่งน้ำไปเก็บในชั้นหิน วิธีการนี้เหมาะกับแปลงเกษตรขนาดใหญ่ เพราะสามารถสูบน้ำในบ่อมาใช้ได้ตลอด เมื่อปริมาณน้ำลดลง น้ำใต้ดินก็จะซึมกลับเข้ามาเติมเต็ม ปริมาณน้ำในบ่อให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ

Advertisement

2.ระบบปิด คือการขุดเจาะช่องในแนวดิ่งจากผิวดิน ส่งน้ำฝน น้ำผิวดินลงไปยังชั้นหินโดยตรง และป้องกันดินถล่มด้วยซีเมนต์ทรงกลมรัศมีประมาณ 2 เมตร วิธีการนี้เหมาะกับแปลงเกษตรขนาดเล็ก และ 3.ระบบผสมผสาน คือการนำพื้นที่ที่ทำโคก หนอง นาอยู่แล้ว มาขุดเจาะช่องในแนวดิ่ง จากก้นบ่อลงไปยังชั้นหิน และป้องกันดินถล่มด้วยซีเมนต์ทรงกลมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปฏิรูปที่ดินฯมองว่าปีแรกของธนาคารน้ำใต้ดิน อาจยังไม่ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้เท่าไหร่ เพราะต้องรอน้ำฝน น้ำผิวดินลงไปเติมก่อน เว้นแต่ว่าการเจาะลงไปจะเจอกับตาน้ำ ซึ่งจะทำให้มีน้ำผุดขึ้นมาตลอด

“ต้องถือว่าเป็นทฤษฎีที่มาต่อยอดศาสตร์พระราชา ต่อไปนี้เกษตรกรไม่ต้องรอแต่น้ำฝนทำการเกษตรอีกแล้ว หรือแม้แต่ฤดูแล้งจัด น้ำผิวดินหมดบ่อไป ก็ยังสามารถดึงน้ำใต้ดินมาใช้ได้ไม่รู้จบ น้ำที่สูบขึ้นมารดต้นไม้ ก็จะซึมลงดิน เก็บน้ำไว้เสมือนหลักการของฟองน้ำ ด้วยอยู่ใต้ดิน ทำให้อัตราการระเหยน้อยมาก” สมศักดิ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

นำร่องดังกล่าวไม่เพียงให้เกษตรกรรู้จักและมีน้ำใช้ทำการเกษตรตลอดทั้งปี แต่ยังเป็นการศึกษาวิจัยความคุ้มค่าของโครงการ เพื่อผลักดันสู่ระดับนโยบายและการเมือง เพื่อต่อยอดศาสตร์พระราชา ให้มีน้ำทำการเกษตรตลอดทั้งปี

ภาพโครงการโคกหนองนาโมเดล
ภาพโครงการโคกหนองนาโมเดล
กราฟฟิกเทียบน้ำใต้ดินระบบเปิด และปิด

 

ศาสตร์พระราชา คือความยั่งยืน

ด้านเกษตรกรต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวง รัชกาลที่ 9 และในหลวง รัชกาลที่ 10 หลังสัมผัสด้วยตัวเองแล้วว่า เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นทางรอดของจริง และดีใจที่มีการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ศาสตร์พระราชา

นางขวัญเรือน ใจไหม อายุ 43 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลคลองพิไกร อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร และเกษตรกรที่น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ในพื้นที่ 13 ไร่ และได้รับเลือกให้นำร่องทำโครงการธนาคารน้ำระบบเปิด

ขวัญเรือนเผยว่า ดิฉันเป็นลูกหลานเกษตรกร ที่บ้านเราทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาตลอด ปลูกพืชกินใบที่ให้ผลผลิตเร็ว ใช้สารเคมีทุกขั้นตอน และได้เงินดี ทำอย่างนี้มาตลอด กระทั่งดิฉันล้มป่วย เพราะแพ้สารเคมีทางการเกษตร ทำให้เริ่มคิดได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ มันเหมือนวางยาตัวเอง จนปี 2547 ได้รู้จักเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 มีความสนใจจึงศึกษาจริงจัง ก่อนทดลองใช้ในแปลงปลูกพืชหลากหลาย เช่น กล้วย มะพร้าว ไผ่ ละมุด เป็นต้น ทำอย่างนี้มา 10 ปี จนตอนนี้กลายเป็นวิทยากรศาสตร์พระราชาในพื้นที่ คอยให้คำแนะนำลูกบ้านที่สนใจทำเกษตรทฤษฎีใหม่

“ตอนแรกที่เปลี่ยนมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คนก็หัวเราะว่าดิฉันทำอะไร เพราะทำแล้วได้ผลช้า เป็นปีก็ยังไม่เห็นผล ไม่เหมือนพวกเขาที่ทำไม่กี่เดือนก็ได้ผล ได้เงิน แม้จะเหนื่อยและท้อบ้าง แต่ส่วนตัวคิดว่าเราก็ได้อยู่นะ คือได้ความสบายใจ สิ่งที่ทำไม่ทำลายสุขภาพ อีกทั้งยังทำให้พบสัจธรรมของชีวิต ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ”

แม้ผู้ใหญ่บ้านหญิงจะทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาหลายปี เช่น ขุดบ่อ ทำคลองไส้ไก่กระจายน้ำให้ชุ่มชื้นทั่วพื้นที่ แต่ก็ไม่รอดพ้นความแห้งแล้งรุนแรงในปีที่ผ่านมา กระทั่งได้สมัครรับคัดเลือกเข้าโครงการธนาคารน้ำใต้ดินช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา บ่อที่เคยขุด ได้รับการขุดให้มีขนาดใหญ่ไปอีก โดยเฉพาะมีความลึกถึง 7 เมตร ทำให้มีน้ำใช้ทำเกษตรตลอดในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าพื้นที่รอบข้างจะแห้งแล้งเพียงใด

“ตอนนี้มีน้ำรดในสวนตลอด อีกทั้งยังเหลือแบ่งปันพื้นที่เกษตรรอบข้างได้อีกด้วย มั่นใจว่าจากนี้รอดแล้ว ไม่ว่าจะแล้งแค่ไหน ก็อยากขอบคุณในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่มา สิ่งที่พระองค์สอน หากทำจริง ใช้ปัญญา แม้จะเจอปัญหาอุปสรรคบ้าง ก็ทำได้สำเร็จ ก็ดีใจที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด จนทำให้เกิดการต่อยอดศาสตร์พระราชาในโครงการนี้ขึ้น” ขวัญเรือนกล่าวทั้งน้ำตาซึม

ขวัญเรือน ใจไหม (ขวาของภาพ)
สภาพพื้นที่ของ ขวัญเรือน ใจไหม

ด้าน นายยศพนธ์ บุญศิลประสิทธิ์ อายุ 29 ปี เกษตรกรรุ่นใหม่ จากตำบลหนองหลวง อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเคยสอบชิงทุนได้ไปเรียนรู้การทำเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่นอยู่ 1 ปี ได้ผสมผสานความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ การทำโคก หนอง นา ที่ได้ไปศึกษาศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ออกแบบพื้นที่เกษตรกรรม 15 ไร่ ของเขา ว่าที่แห่งนี้เดิมเคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อน สภาพดินก็เสื่อมโทรมหนัก เป็นดินเหนียวที่ช่วงแล้งดินแข็งเหมือนหิน ฤดูฝนเป็นดินเลน ผมค่อยๆ เปลี่ยนด้วยการปลูกต้นไม้ เช่น ต้นกล้วยไข่ กล้วยน้ำหว้า ไผ่ ทำบ่อน้ำ คลองไส้ไก่

“ตอนแรกพ่อแม่ไม่เห็นด้วยอย่างมากกับสิ่งที่ผมทำ เพราะเขาเคยทำมาอย่างนี้ มีแบบฉบับอย่างนี้ คนภายนอกก็ขำว่าผมกำลังเล่นอะไร แต่พอทำมาได้ 3 ปี แม้ไม่ค่อยได้ผลผลิตอะไร แต่สิ่งที่ทำก็ให้บางอย่าง เช่น ร่มเงาขึ้น อากาศเย็นและบริสุทธิ์ขึ้น พวกท่านจึงเริ่มเปลี่ยนใจ และเห็นประโยชน์ของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ก่อนได้รับคัดเลือกจากโครงการให้ทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบผสมผสาน เสมือนได้สูตรเกม เพราะทำให้ผมไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น”

เป้าหมายเกษตรกรหนุ่มรายนี้ ไม่ใช่ทำสวนปลูกเพื่อได้เงิน แต่เน้นปลูกเพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ตั้งแต่สุขที่ได้มีแหล่งอาหารเป็นของตัวเอง โดยเขาเตรียมปลูกข้าว พืชพักสวนครัว เลี้ยงปลา เพื่อไม่ต้องไปซื้อกิน สุขที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์และปลอดภัย ขณะเดียวกันสุขจากรายได้ที่มั่นคง จากผลผลิตที่ทยอยออกสม่ำเสมอ ตอนนี้เขากำลังสร้างแบรนด์ “กล้วยไข่กำแพงเพชรสวนยายแอ๊ะ” เพื่อขายผลสด ผลแปรรูป รวมถึงขายต้นไม้ที่เพาะชำได้ ทั้งไม้ผล ไม้ดอก

“เหมือนว่าในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังคงอยู่กับเรา เพราะทุกสิ่งที่ทำ ทำให้ผมนึกถึงพระองค์ และดีใจที่ในหลวง รัชกาลที่ 10 ทรงรักษา สืบสาน ต่อยอด ซึ่งก็ถึงเวลาแล้วที่ราษฎรจะน้อมนำคำสอน หรือเบ็ดตกปลาที่พระราชาพระราชทาน มาลงมือทำหรือพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตและประเทศชาติ” นายยศพันธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

สภาพพื้นที่ของ ยศพนธ์ บุญศิลประสิทธิ์
ยศพนธ์ บุญศิลประสิทธิ์
นายสมศักดิ์ การเจริญกุลวงศ์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร
นายวีระวัฒน์ อ่วมสร้อย ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการผลิต โครงการเอส 1 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image