ดร.สุเมธ รำลึกความทรงจำ 35 ปีถวายงาน ร.9 ย้ำเดินตามรอยพระองค์ ส่งต่อถึงลูกหลานเพื่อความยั่งยืน

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา

ดร.สุเมธ รำลึกความทรงจำ 35 ปีถวายงาน ร.9 ย้ำเดินตามรอยพระองค์ ส่งต่อถึงลูกหลานเพื่อความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวปาถกฐาเทิดพระเกียรติใน งานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์ ปีที่ 4 “ในหลวงในความทรงจำ” เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร จัดโดยโรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดลว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาซึ่งผมล็อกไว้ให้เลยว่า 13 ตุลาคม เป็นวันของศิริราช เพราะเป็นสถานที่ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของพวกเรา ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2559

ความรู้สึกที่คนไทยมีในวันนั้น ผมเชื่อว่าในวันนี้ก็ไม่น่าจะจืดจางลงไป ผมหวนกลับไปนึกถึงความทรงจำที่มีต่อพระองค์ในวันนั้นเมื่อ 4 ปีก่อน จำได้ว่าเวลาใกล้เคียงกันนั้น ผมเดินทางกลับจากประชุมประจำปีที่จังหวัดสุราษฎ์ธานี วันนั้นเกิดยังไงก็ไม่ทราบ คิดถึงพระองค์จับใจทีเดียว ผมและจำได้ว่าไม่ได้เข้าเฝ้าฯ อีกเลยเป็นระยะเวลานานพอสมควร ผมก็ได้แต่เข้าเฝ้าฯ เหมือนคนไทยทั่วไปที่ไปถวายดอกไม้ ลงนามถวายพระพรถึงพระองค์ แล้ววันที่ไม่อยากให้มาถึงก็มาถึง

ในวันนั้น ผมจำได้ว่ายังไม่ใช่เวลา 15.52 น. เจ้าหน้าที่หลายกระทรวง ทบวง กรม ก็ไปอยู่ที่นั่น แต่ของคณะของเราเดินไปข้างบน เจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า ทางรพ.ขอให้หยุดพิธีการทั้งหมด ก็เข้าใจทันทีเลยว่าวันนี้มาถึงแล้ว แม้เป็นวันที่เราไม่อยากให้มาถึง วันที่เราไม่ต้องการเลย แต่เป็นสัจธรรม วันนั้นก็ต้องมาถึง ผมก็บอกมหาดเล็กว่าเข้าใจ แต่ขอเข้าไปกราบ ผมเดินไปหน้าพระพักตร์และกราบหลังจากนั้นระหว่างนั่งรถกลับจากศาลาสหทัยฯ มาที่สำนักงาน ในหัวสมองเหมือนหนังที่กรอกลับ เป็นหนังเรื่องยาวมาก 35 ปี เป็นชีวิตที่ไม่มีวันลืมเลยที่ได้มาตามพระองค์ หนังกรอกลับตั้งแต่วันแรก ภาพต่างๆ สลับกันมา

ในวันนี้ผมอยากเอาภาพที่หลั่งไหลผ่านสมอง ผ่านจิตวิญญาณผมในวันนั้นมาเล่าสู่กันฟัง ผมอยากพูดด้วยความรู้สึก สิ่งที่จิตใจผมได้เก็บความทรงจำที่ระลึกถึงได้

Advertisement

“ผมเดินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยไม่ได้ตั้งใจจะเตรียมการไว้ก่อน ในปี พ.ศ.2524 ผมอยู่ในป่า อยู่สภาพัฒน์ฯ ณ วันนั้น ประเทศชาติอยู่ในภาวะสงครามการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ปี พ.ศ. 2512 คนไทยลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง ด้วยคนกลุ่มหนึ่งเชื่ออีกอย่างหนึ่ง อีกคนเชื่ออีกอย่างหนึ่ง อยู่ป่า 11 ปี ผมรบตั้งแต่หัวจรดใต้ ผมเป็นพลเรือนที่ลงสนามรบมากกว่าทหาร คนเดียวเหมา 4 กองทัพ วางแผนเพื่อเอาชนะโดยไม่มีการฆ่า เพราะเป็นสงครามความเชื่อ แต่คนเอาปืนไปยิง ไม่โดนความเชื่อแต่โดนคน ตาย 1 คน ผู้ก่อการร้ายเพิ่มอีก 4 คน เพราะฉะนั้นกระสุนไม่ทำให้คนมีอะไรขึ้นมาได้ และหลังจากนั้นเราก็เริ่มเดินในทางที่ถูกขึ้น ด้วยได้รับข้อเสนอแนะที่พระราชทานมาให้เขามีสิทธิทำกินและให้ตกถึงลูกหลานเลย จะได้ถาวร ก็ให้สิทธิที่ทำกิน มีการจัดสรรที่ดิน” ดร.สุเมธกล่าว

งานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์
งานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์

ดร.สุเมธ กล่าวอีกว่า กระนั้นในปี พ.ศ.2524 ผู้ก่อการร้ายมอบตัวหมด มอบตัวเพราะเราไม่ฆ่าเขา เราให้เขาคิดให้กลับใจ โดยตั้งชื่อว่า “ผู้หลงผิด” ด้วยในกาลข้างหน้าจะมีอะไรอีกไม่รู้ และบ้านเมืองเป็นของทุกคนไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง หลังจากเสร็จศึก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นมาเป็นนายกฯ บอกว่า งานก่อสร้างหมู่บ้านให้ผู้กลับใจ ให้ผมเข้าเฝ้าถวายงานกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากมีคำสั่งผมก็ได้ไปเข้าเฝ้าฯ ประโยคแรกที่อยู่ในความทรงจำ คือ สอนให้เรามีความสุขยังไง เป็นคำสอนที่แปลกที่สุดที่เคยได้รับมา พระองค์รับสั่งว่า

“ขอบใจนะที่มาช่วยฉันทำงาน แต่ฉันขอบอกก่อนว่า มาช่วยฉันทำงาน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากความสุขที่จะมีร่วมกันในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น” ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะความสุขต้องทำให้ตัวเอง ทำให้คนอื่นจะมีความสุขได้ยังไง ปีพ.ศ. 2524 ผมจึงได้คำสอนใหม่ที่อยู่ในความทรงจำตลอด เพราะนอกจากสอนแล้ว ทรงทำให้ดูด้วย ความสุขที่ได้กับตัวเอง ทำความสุขให้คนอื่นเป็นเรื่องของส่วนรวม เพราะส่วนรวมอยู่ในนั้นด้วย เราสุขคนเดียว แต่ส่วนรวมทุกข์ เราอยู่ได้เหรอครับ ทรงสอนเหมือนสมเด็จพระราชบิดา ให้พึงนึกถึงประโยชน์ผู้อื่นมาก่อนประโยชน์ตน ถ่ายทอดมาถึงพระองค์ ประโยชน์อาจจะไม่เหมือนกัน แต่ความหมายเหมือนกัน

Advertisement

“ความประทับใจแรกคือ ความเป็นครูของพระองค์ ทรงเป็นมหาบรมครูที่สอนเราหมดทุกอย่าง หลังจากประโยคนั้น ทรงถามว่า “ดีใจไหมที่จะมาช่วยฉันทำงาน” ผมตอบว่า “กลุ้มใจพระพุทธเจ้าค่ะ” ท่านหยุดเลย รับสั่งถามว่า ”ทำไมคนอื่นดีใจ เธอกลุ้มใจ” ผมก็กล่าวต่อว่า “กลุ้มใจว่าจะถวายงานไม่ได้ เพราะจบรัฐศาสตร์การทูต ไม่ได้สอนว่าบริหารน้ำยังไง ฟื้นฟูป่ายังไง” ท่านบอกว่า “ไม่เป็นไร ฉันสอนเอง” ผมเลยกลายเป็นคนเดียวที่เดินตามเสด็จ มีสภาพเป็นนักเรียน และเป็นหลักสูตรที่เรียนยาวที่สุด 35 ปี ผมทำปริญญาได้หลายใบเลยครับ แต่ท่านก็หยุดสอนเมื่อ 13 ตุลาคม แต่ผมก็ได้รับมาพอแล้ว”

“ถ้าวันนี้ถามผมว่า พระองค์สอนอะไร ก่อนอื่นพระองค์ไม่ได้ทรงสอนวิชาความรู้ให้ไปหาเงินหาทอง แต่สอนให้เป็นคนดีก่อน และทุกครั้งการสอนของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความดี การบริหารน้ำ การฟื้นฟูป่า ทรงสอนและทำให้ดูด้วย ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เราแค่เห็นแค่ดู แต่ไม่เคยมองเลย เราจึงไม่เข้าใจพระองค์ ความจริงควรจะมอง เพ่งพิศพิจารณา แล้วจะเกิดความเข้าใจและเข้าถึง พระองค์ทรงสอนนานมาก 70 ปี ทรงปฏิบัติธรรมทุกย่างก้าว ธรรมะที่ทรงปฏิบัติเราท่องอยู่ขึ้นใจ แต่จำไม่ได้ คือ “ทศพิธราชธรรม” มีทั้งหมด 10 ข้อ เมื่อจำไม่ได้ แล้วจะปฏิบัติอย่างไร ผมจำได้ เพราะท่านปฏิบัติให้ดูซ้ำๆ

ธรรมะที่ทรงปฏิบัติทั้ง 10 ข้อ มี 2 ข้อที่เป็นเรื่องการให้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ได้แก่ ทาน (ทานัง) คือให้แล้วไม่เอาคืน ให้ก็ให้ โดยหลักธรรมเชื่อว่า คนเราทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน มีส่วนเกินในชีวิตที่จะให้คนอื่นทั้งสิ้น ให้เพราะเป็นส่วนเกิน ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินทอง อาจจะเป็นรอยยิ้ม ถ้าชีวิตเรามีส่วนเกิน แค่รอยยิ้มก็ให้รอยยิ้มเขา เขาจะยิ้มตอบหรือไม่ ไม่ต้องสนใจ อีกข้อคือ บริจาค (ปริจาคะ)  การให้กับส่วนรวม ทำอะไรเล็กๆ และได้ประโยชน์ที่ใหญ่กว่า”

“ทั้งนี้ ในปีพระชนมพรรษา 60 พรรษา ไม่รู้จะถวายอะไร สังเกตถวายข้าวของพระองค์ก็ไม่ใช้ ยิ่งของแพงพระองค์ไม่ใช้ พูดภาษาบ้านๆ คือ อะไรเว่อร์ๆ ไม่เอา พอเข้าเฝ้าฯ บอกว่าจะบวชถวาย พระองค์ดีพระทัยมาก รับสั่งว่าดีแล้ว พวกเราหมกมุ่นแต่กับตัวเอง นานๆ เอาจิตไปพักผ่อนได้มีเวลาเอาตรวจสอบตัวเองเป็นการดี และอีกประการหนึ่งทรงสอนผมอยู่ประมาณ 40 นาทีด้วยคำๆ เดียว

พระองค์รับสั่งว่า “โยนิโสมนสิการ” การพิจารณา คือสิ่งที่ผู้คนในสังคมมักจะขาด พอไม่พิจารณา อารมณ์พาไป ก็เตลิดไปตามข้อมูลที่ได้รับมา ไม่มีเวลาย่อยข้อมูล เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการสำหรับวันนี้เป็นธรรมะที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ คือ พิจารณา พอจิตนิ่งแล้วมีพลัง เพราะฉะนั้นพวกเราขาดการพิจารณา ข่าวคราวต่างๆ เชื่อกันไปมา เชื่อในสิ่งที่มองเห็น ซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่ วันนั้นเราได้ความซาบซึ้งมาก ระหว่างบวชไปฝึกโยนิโสฯ ให้ได้ แสวงหาความเป็นจริงอยู่ตรงไหน” ดร.สุเมธ กล่าว

งานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์
งานศิระกรานพระภูบาลนวมินทร์

อย่างไรก็ตาม ดร.สุเมธ กล่าวว่า เป็นความปลื้มที่ได้บวชถวายเป็นพระราชกุศล อาจไม่มีค่าในสายตาใครเลย แต่พระองค์รับสั่งว่า กุศลนั้นมีจริงๆ บางสิ่งบางอย่างแม้เป็นเรื่องนามธรรม แต่ความจริงนั้นมี

“ทรงเป็นครูสอนธรรมะ ครูสอนความดี และครูสอนให้รู้จักปัจจัยแห่งชีวิต ท่านอาจจะนึกถึงโรบอท ไฮเทค แต่จริงๆ แล้ว สัจธรรม คือ อีกสักชั่วครู่ชั่วยามท่านก็มานั่งหน้าจานข้าวของท่าน วันนี้ ถ้าไม่มีดิน ไม่มีน้ำ อากาศ ไฟ จะมีอาหารในจานเราไหม มีข้าวไหม มีผักไหม มีเนื้อไหม และดินน้ำลมไฟ คือ แผ่นดิน

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดูแลแผ่นดิน ดินน้ำลมไฟ เพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ ทุกอย่างมาจากดินน้ำลมไฟหมด เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาแผ่นดิน พระองค์รักษามา 70 ปี พระวรกายบอบช้ำ เวลา 8 เดือนต่อปี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

“พระองค์ทรงทำมาให้เราดูตลอด ใครไม่เข้าใจไม่รู้จะว่าอย่างไร ขอเพียงเดินตามพระองค์ ที่จะเป็นข้ารองพระบาทให้ออกมาทำงานที่พระองค์ทรงทำ รักษาดินทุกก้อน รักษาต้นไม้ทุกต้น ไม่ต้องทำถวายพระองค์หรอก  แต่เพื่อลูกหลานของเรา เขารอรับอยู่ คำว่ายั่งยืนที่พูดกันทุกเมื่อเชื่อวันคืออะไร อยู่ในยุคเราให้สบายตามอัตภาพ เสร็จแล้ว ลูกเรารับต่อไป ยั่งยืนต่อไปด้วย ของมันน้อยลงทุกที เพราะคนมากขึ้นทุกที ตอนผมเล็กๆ ผมจำได้ ประชากรไทยมีทั้งสิ้น 17ล้านคน วันนี้ 70 ล้านคน และพื้นที่เท่าเดิม ชีวิตแย่งกันแล้วนะคะ เขาบอกสงครามต่อไปนี้ แย่งชิงทรัพยากรกัน ไม่ใช่สงครามการเมืองแล้ว 10ปีที่แล้ว แย่งชิงน้ำมัน คราวหน้าเขาบอกหนักหนาสาหัส ทศวรรษหน้าแย่งชิงน้ำ ไม่มีน้ำมันชีวิตลำบากขึ้น แต่ไม่ตาย แต่ไม่มีน้ำ ตาย เพราะฉะนั้น 70 ปีที่ผ่านมา 80 เปอร์เซ็นต์การทรงงานของพระองค์ น้ำทั้งสิ้นเลย ทรงสอนให้เรารู้จักดินน้ำลมไฟ จะเก็บยังไง

“ผมก็เลยแปรจากพระองค์มา บริหารน้ำแบบบริหารเงินเดือนได้ไหม เงินเดือนออกเดือนละหน แต่ใช้ 30 วัน น้ำปีหนึ่งมา 3 เดือน แต่อีก 9 เดือนที่เหลือทำยังไง บริหารง่ายๆ 3 เดือนที่มานั้น เก็บไว้ให้พอใช้อีก 9 เดือน เกลี่ย กระจาย เก็บสิครับ นี่ตกใจ น้ำท่วมทีไร ถูกทิ้งหมดเลย แล้วอีก 9 เดือนทำยังไง” ดร.สุเมธกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image