หมอจุฬาฯ ชี้ไวรัสซิกา ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์-“นพ.ยง” ย้ำไม่น่ากลัวเท่าไข้เลือดออก

ซ้าย-ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ขวา- ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

หมอจุฬาฯ ชี้ไวรัสซิกา ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ พบรายงานศึกษา 2 รายมีเชื้อในน้ำอสุจิ ขณะที่ “นพ.ยง” ระบุยังถ่ายทอดผ่านน้ำนมแม่สู่ลูก ย้ำไม่น่ากลัวเท่าไข้เลือดออก

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องการแพร่เชื้อไวรัสซิกาจากคนสู่คน ว่า มีโอกาส เนื่องจากมีรายงานที่ตีพิมพ์ในวงการแพทย์ระดับนานาชาติระบุพบเคส 2 ราย ในปี 2008 และปี 2013 โดยในปี 2008 เป็นรายแรกไปทำงานอยู่ในประเทศเซเนกัล และกลับมาสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่ามีอาการของไข้ซิกา แต่ช่วงแรกไม่แสดงอาการมากนัก และมีเพศสัมพันธ์กับภรรยา จนพบว่าอสุจิมีเลือดจึงไปพบแพทย์และตรวจจนพบเชื้อ ขณะที่ภรรยาก็มีอาการและพบเชื้อเช่นกัน

ส่วนอีกรายในปี 2013 เป็นชาวเกาะตาฮีตี พบว่าตัวเองมีเลือดออกในน้ำอสุจิ จึงไปพบแพทย์ ซึ่งรายนี้มีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว และปวดข้อ เมื่อตรวจอย่างละเอียดจึงพบว่ามีเชื้อซิกาเช่นกัน

“ทั้งนี้ พบว่าเชื้อซิกาสามารถอยู่ในเลือดของเราได้เฉลี่ยประมาณ 5-6 วัน โดยจะแสดงอาการออกมาประมาณ 2-3 วัน อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อซิกา ไม่ใช่แค่ตรวจจากเลือด แต่ยังตรวจในน้ำปัสสาวะได้ ซึ่งในห้องปฏิบัติการของทางจุฬาฯ สามารถตรวจยืนยันได้สองทาง ทั้งเลือดและปัสสาวะ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหากคู่สามีภรรยามีอาการไข้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ยิ่งกลุ่มเสี่ยงกลุ่มที่เดินทางไปประเทศระบาด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จากรายงานระบุเช่นนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าต้องวิตกกังวลไปหมด คู่สามีภรรยายังมีเพศสัมพันธ์กันได้ เพียงแต่ผู้ชายก็สวมถุงยางอนามัยป้องกัน แต่ในส่วนผู้หญิงนั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่า เชื้อซิกาจะติดบริเวณช่องคลอดหรือระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงแต่อย่างใด

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไวรัสซิกายังสามารถ่ายทอดผ่านทางน้ำนม และสายรกได้ด้วย เมื่อรับเชื้อเข้าไปแล้วจะมีระยะฟักตัว 2-7 วัน โดยช่วง 2-5 วันแรกจะมีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว ปวดเมื่อย อาการคล้ายไข้เลือดออกและโรคที่นำโดยยุง โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างโรคไข้เลือดออก แต่ที่เป็นปัญหาคือทำให้ทารกแรกคลอดมีศีรษะเล็ก พิการทางสมองแต่กำเนิด ถ้าจะเปรียบซิกาก็เหมือนโรคหัดเยอรมันที่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ทำให้เด็กพิการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image