จับเสือห้วยขาแข้งไปปล่อยเขาใหญ่ “บิ๊กเต่า”สั่งกรมอุทยานฯศึกษาความเป็นไปได้!!

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าขณะนี้ในพื้นที่เขาใหญ่ไม่พบเสือโคร่งเป็นเวลานานแล้ว โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งภายในพื้นที่ป่าก็ไม่พบเสือโคร่งแม้แต่ตัวเดียว และหน่วยลาดตระเวนก็ไม่พบรอยตีนเสือโคร่งเช่นกัน เป็นเพราะสภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า อาจต้องนำเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งมาปล่อยในจำนวนที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลในระบบห่วงโซ่อาหาร และโครงสร้างในระบบนิเวศทั้งหมด เสือโคร่งจะกินสัตว์กินพืช จำพวกสัตว์ตีนกีบ เช่น กวาง ก็ต้องควบคุมปริมาณที่พอดีได้ ส่วนข้อกังวลที่น่าเป็นห่วงคือ ในบริเวณโดยรอบพื้นที่เขาใหญ่มีชุมชนอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามแนวทางนี้กรมอุทยานฯ รวมทั้งนักวิชาการด้านสัตว์ป่าจะต้องศึกษาความเป็นไปได้ให้รอบด้านที่สุด และมีมาตรการที่ต้องมั่นใจพอจึงจะสามารถนำเสือโคร่งจากห้วยขาแข้งมาปล่อยที่พื้นที่เขาใหญ่ได้

นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า การนำเสือโคร่งห้วยขาแข้งมาปล่อยที่เขาใหญ่เป็นเรื่องดีต่อระบบนิเวศ จะทำให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำงานให้หนัก เพราะการดูแลเสือถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ การตายของเสือ 1 ตัวเป็นเรื่องใหญ่พอๆกับช้างตาย 1 ตัว เดิมทีในพื้นที่เขาใหญ่เคยมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ แต่หายไปประมาณ 10 ปี แล้ว ขณะนี้มีแต่หมาในที่เป็นสัตว์ที่คอยควบคุมปริมาณสัตว์ในพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ
แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวว่า ก่อนที่จะเพิ่มประชากรเสือในที่ใด จะต้องมีปัจจัยหลักที่ทำให้เสืออยู่ได้ก่อน นั่นคือ แหล่งที่อยู่ ซึ่งก็คือ ป่าที่อุดมสมบูรณ์ และเหยื่อ ซึ่งถ้าไม่มีป่าที่เหมาะสม ไม่มีเหยื่อที่เพียงพอ ก็ไม่มีวันที่จะมีเสือได้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไม่ใช่ว่าไม่เหมาะสมที่จะมีประชากรเสือ เพราะก่อนหน้านี้ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีเสือชุกชุมมาก่อน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ในพื้นที่มีการล่าเสือด้วย ทำให้ประชากรลดลงอย่างรวดเร็วและหายไปในที่สุด

“อยู่ๆให้จับเสือจากห้วยขาแข้งไปไว้ที่เขาใหญ่ ทำแบบนี้มันง่ายเกินไป การจับเสือจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายภายหลังจากที่เตรียมการณ์ในเรื่องอื่นๆเอาไว้พร้อมแล้ว หมายถึงต้องสำรวจเรื่องแหล่งที่อยู่ใหม่ว่ามีความพร้อม เพราะเสือ 1 ตัว ต้องมีอาณาเขตการหากินไม่ต่ำกว่า 100 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งต้องมีเหยื่อให้ล่าอย่างเพียงพอด้วย ประการสำคัญคือ พื้นที่นั้นจะต้องมีมาตรการในการป้องกันการลักลอบล่าสัตว์อย่างดี มิฉะนั้นแล้ว เอาเสือไปปล่อยก็ไม่มีประโยชน์ เพราะในที่สุดก็ถูกล่า”แหล่งข่าว กล่าว

Advertisement

แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวว่า เมื่อทุกอย่างพร้อม นำเสือไปปล่อยแล้วก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจะต้องดูแล ควบคุม ปัจจัยในการอยู่รอดของเสือให้มีความสมดุลตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เอาเสือไปปล่อยเป็นมหกรรม ปล่อยแล้วปล่อยเลย หรือนึกอยากจะปล่อยก็ปล่อย ทำแบบนั้นก็เหมือนเอาเสือไปตาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image