‘ปิยะสกล’ จ่อเปิดข้อมูลศึกษาอนาคต ‘บัตรทอง’ ฉุนกลุ่มบิดเบือนให้ข้อมูลไร้ข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญอย่างไม่เป็นทางการที่พบว่าประชาชนเห็นชอบ ว่า ไม่ว่าจะรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตนเคยพูดเสมออยู่แล้วว่า ยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อสุขภาพของประชาชนต่อไป ซึ่งงานด้านสาธารณสุข จะต้องดูแลทั้งสุขภาพกายและใจ ก็จะต้องทำงานต่อไป และจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีประเด็นร่วมจ่ายระบบหลักประกันสุขภาพฯ 30 เปอร์เซ็นต์ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าใครเป็นคนพูด เพราะตนไม่เคยพูด แต่คนที่พูดก็ไม่รู้ว่าไปรู้มาจากไหน และคิดจากอะไร เพราะทีมที่ศึกษาอยู่ยังไม่ได้ข้อสรุปด้วยซ้ำไป ซึ่งตนได้ประสานไปยัง ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่ามีความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวอย่างไรบ้าง ตนไม่เข้าใจว่า คนที่คิดคิดอะไรอยู่ เพราะแต่ละอย่างที่พูดล้วนไม่จริง ตั้งแต่ล้มระบบ ร่วมจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ คือ เป็นการพูดโดยไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลเลย

“ผมอยากให้ไปถามคนที่โพสต์ข้อมูล หรือพูดข้อมูลที่ไม่จริง เพราะรัฐบาลและผมไม่เคยพูดเรื่องนี้ แต่พอมีการโพสต์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผมก็ต้องมาตามตอบก็ไม่ถูก แบบนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหมด ดังนั้น ขอให้รอผลการศึกษาคณะกรรมการชุด ศ.นพ.ภิรมย์ ก่อน เมื่อผลออกมา เราก็จะจัดทำประชาพิจารณ์ด้วย ไม่ใช่ว่า ได้ข้อสรุปและจะทำเลย เราต้องสอบถามความคิดเห็นทุกภาคส่วนอยู่แล้ว” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติอย่างไม่เป็นทางการแล้วนั้น ในส่วนของงานด้านสุขภาพ ตนและกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังมีความกังวลเหมือนเดิมคือการที่ร่างรัฐธรรมนูญมีการตัดถ้อยคำเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันออก แต่ภาครัฐออกมายืนยันว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมนั้น ตรงนี้ก็จะต้องจับตากันต่อไป ต้องเฝ้าตามดู และเก็บทุกคำพูดของทุกฝ่ายไว้หมดว่าจะไม่กระทบกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทองไม่หาย อย่ากังวลเรื่องร่วมจ่าย อะไรเหล่านี้ และต้องยืนยันเรื่องความเท่าเทียมของทุกคน ทุกระบบต้องมีความเท่าเทียม เสมอภาค ทั้งนี้ กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญซึ่งภาคประชาชนก็เชื่อเรื่องนี้มาตลอด ดังนั้นจะเป็นการดีหากมีการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เห็นต่างเรื่องระบบหลักประกันฯ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นต่อกรณีรัฐมนตรีว่าการ สธ. ยืนยันว่ากระแสการร่วมจ่าย 30 เปอร์เซ็นต์ไม่เคยพูด นายนิมิตร์ กล่าวว่า การร่วมจ่ายต้องดูสรุปสุดท้ายว่าเป็นความเห็น เป็นมติแล้วหรือยัง ซึ่งภาคประชาชนพูดเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้วว่าถ้าจะมีการร่วมจ่ายก็ต้องมีการร่วมจ่ายเหมือนกันทั้งหมด และเป็นการร่วมจ่ายก่อนการเจ็บป่วย คือให้มีการพัฒนาระบบภาษี แต่ที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างที่สุดคือการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image