แกะรอยทพญ.หนีใช้ทุน ศึกษาวันหมดอายุความ มองหา..ใครต้องรับผิดชอบ

แกะรอย ทพญ.หนีใช้ทุน
ศึกษาวันหมดอายุความ
มองหา..ใครต้องรับผิดชอบ

 

1.พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ.2542

มาตรา 72 “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

Advertisement

(3) สั่งให้ใช้เงิน หรือ…ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับ…สัญญาทางปกครอง
วรรคสี่ ในกรณีศาลปกครองมีคำบังคับให้ผู้ใดชำระเงิน…ตามคำพิพากษา ถ้าผู้นั้นไม่ชำระเงิน…ศาลปกครองอาจมีคำสั่งให้มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของบุคคลได้”

2.ในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสัญญาทางปกครองคดีหนึ่ง

มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น มีนางสาวนักศึกษา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 บิดาผู้ค้ำประกันตอนเข้าเรียนชั้นปริญญาตรีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และยังมีผู้ที่ร่วมกันค้ำประกันอีก 4 คน ที่เป็นผู้ร่วมกันค้ำประกันกรณีนางสาวผู้นี้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี รับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น แล้วได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อชั้นปริญญาโทและเอกในต่างประเทศ

Advertisement

ทั้งหมดตกเป็นผู้ถูกฟ้องคดีเรียงกันไป คือ ผู้ค้ำประกันที่ 3 ผู้ค้ำประกันที่ 4 ผู้ค้ำประกันที่ 5 และผู้ค้ำประกันที่ 6

3.ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ดังนี้

(1) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 232,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

(2) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 1,847,206.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

(3) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จำนวน 116,431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ เงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันที่ชำระเงิน

ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

4.เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุด จะเกิดกรณีให้ดำเนินการ 2 กรณี คือ

(1). “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งฯ มาตรา 72 วรรคห้า)

ประเด็นนี้ เป็นเรื่องของการบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา ซึ่งมีเวลาบังคับได้ภายในระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา

(2). “สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความสิบปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด” (ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 193/32)

สิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่เกิดขึ้นนี้นี่เอง คือ สิทธิที่จะนำไปฟ้องให้ลูกหนี้ทั้งหมดล้มละลายได้ (กรณีลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท)

5.ผู้ค้ำประกัน 4 คน ชำระเงินให้มหาวิทยาลัย 8 ล้านบาท

มีข้อเท็จจริงว่า มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้รับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน 4 คน ยอดเงินรวม 8 ล้านบาทจากยอดเงินตามคำพิพากษาที่ต้องรับผิดร่วมกัน คือ

5.1) จำนวน 1,847,206.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่มหาวิทยาลัย
คิดดอกเบี้ยถึงวันนี้ระยะเวลา 10 ปี (อาจมากกว่า 10 ปีเล็กน้อย เพราะศาลให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องคดี) เพราะดอกเบี้ยท่วมเงินต้นไปแล้วเป็นเงินถึง 2,770,809 บาท รวมกับเงินต้น 1,847,206 บาท จึงเป็นหนี้ทั้งสิ้น 4,618,015 บาท

5.2) จำนวน 116,431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา

ส่วนยอดนี้ เมื่อคิดจำนวนเงินต่างประเทศคร่าวๆ ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ในอัตรา 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 35 บาท จะเป็นยอดเงินต้น 23,314,585 บาท รวมกับยอด 116,413 บาทด้วย จะเป็นต้นเงิน 23,431,016 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ระยะเวลา 10 ปี อีก 17,573,262 บาท รวมดอกเบี้ยแล้วเป็นยอดเงิน 41,004,278 บาท
รวม 2 ยอดดังกล่าวนี้ 4,618,015+41,004,278 เท่ากับ 45,622,293 บาท

6.ผู้ฟ้องคดีตกลงรับชำระหนี้ที่น้อยกว่าคำพิพากษา และไม่ทำการบังคับชำระหนี้อีกต่อไป

ล่าสุดได้ยินเพียงว่า ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องล้มละลายตัวนักศึกษาผู้ก่อเหตุ รับทุนเรียนแล้วไม่ยอมกลับมารับราชการชดใช้ทุนภายในอายุความ 10 ปี อาจจะด้วยหวังว่าจะสามารถบังคับคดีล้มละลายไปติดตามเอาทรัพย์สินในต่างประเทศได้ ซึ่งจะมีผลเป็นจริงเพียงไร จะได้เพียงไรยังไม่ชัดเจน นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง

แต่เมื่อพิจารณาอีกประเด็นว่า ยอดหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นที่ถึงที่สุดแล้ว ที่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดร่วมรับผิด ซึ่งสามารถบังคับคดีได้ทันที

โดยเฉพาะในคำพิพากษา ข้อ 2 และ 3 เมื่อคิดยอดหนี้และดอกเบี้ยรวมตั้งแต่วันฟ้องคดีจนถึงวันชำระเสร็จเป็นจำนวนมหาศาล

แต่ผู้ฟ้องคดีกลับดำเนินการให้ได้รับชำระมาเพียง 8 ล้านบาท ในขณะที่ระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปีใกล้จะล่วงพ้นไปแล้ว

อำนาจของผู้ฟ้องคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจในการพิจารณาลดหย่อนหนี้ตามคำพิพากษาลงไปได้เพียงไร ในคดีอื่นๆ ที่ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลอื่นๆ มีการปฏิบัติเช่นเดียวกันหรือไม่ ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นเดียวกันหากเมื่อมาปฏิบัติกับกรณีนี้เช่นนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เป็นการชอบหรือไม่

น่าพิจารณาหรือไม่ ว่าระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 10 ปีจะครบ 10 ปีในอีกไม่กี่วัน หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ซึ่งได้สู้ลงทุนลงแรงฟ้องคดี และศาลมีคำพิพากษาให้ชนะคดีแล้ว กลับไม่บังคับคดีอย่างเต็มที่กระทั่งเวลาล่วงเลยไปจนขณะนี้เหลือเพียงไม่กี่วันใกล้จะพ้นระยะเวลาการบังคับคดี

ถ้าระยะเวลาการบังคับคดีตามคำพิพากษา (เอากับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด) ล่วงพ้นไป โดยไม่สามารถบังคับคดีได้อีกแล้ว จะถือเป็นการปฏิบัติงานบกพร่อง หรือเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่ หรือจะเข้าข่ายความผิดอื่นด้วยหรือไม่อย่างไร

แม้จะเห็นอกเห็นใจผู้เกี่ยวข้องในกรณีนี้ที่ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุทุกคน แต่เมื่อพิจารณาในประเด็นเรื่องการบังคับคดีนี้ด้วยแล้ว ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก หรือว่า แล้วๆ กันไป

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image