ป้อมมหากาฬ เฮ ! มติที่ประชุมรับหลักการแก้พระราชกฤษฎีกา ปลดล็อกรื้อชุมชน กทม. โอด ตกเป็นจำเลยสังคม

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจ้งวัฒนะ มีการจัดเวทีหารือทางออกในประเด็นไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬที่ยืดเยื้อมานาน 24 ปี โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นประธานในที่ประชุม มีตัวแทนฝ่ายต่างๆเข้าร่วมจำนวนมาก อาทิ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬ, เครือข่ายภาคประชาสังคม, คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน, กรมศิลปากร, กทม. เป็นต้น

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผอ. กองจัดการกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ ตนไม่ได้ใจร้าย แต่ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการเวนคืนและจ่ายเงินให้เจ้าของที่ดินไปแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้ อย่าพูดเรื่องประวัติศาสตร์ เพราะคนที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ไม่ใช่คนในประวัติศาสตร์ แต่ย้ายมาอยู่ในภายหลัง ตนไมได้ค้านเรื่องพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ทางชุมชนนำเสนอ แต่จะทำอย่างไรให้ไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งในขณะนี้กทม.ตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งที่ทำตามกฎหมาย

“ตามที่มีผู้เสนอทางออกให้แก้พระราชกฤษฎีกา ในกระบวนการต้องรอบคอบ ซึ่งส่วนตัวต้องตอบผู้บริหารกทม.ว่าทำไมถึงต้องให้ชุมชนนี้อยู่ต่อไป เป็นคนสำคัญขนาดไหนถึงให้อยู่ นอกจากนี้ต้องมองรัฐธรรมนูญ ดูกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขอให้มีใจเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม จะนำข้อมูลจากที่ประชุมนี้ไปนำเสนอผู้บริหารต่อไป” นายศักดิ์ชัยกล่าว

ป้อมมหากาฬ 3

Advertisement

นายศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า การที่กทม.บอกว่าอย่าพูดเรื่องประวัติศาสตร์นั้น ตนมองว่าไม่สามารถตัดออกได้ เพราะจุดอ่อนของกทม.คือ ไม่สนใจโครงสร้างสังคม ไม่เข้าใจคำว่าชุมชน ราชการจึงมักผิดพลาดอย่างร้ายแรงโดยการย้ายชุมชนทำให้บ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งผิดตั้งแต่กระบวนการแล้ว

นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ จากสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขอยืนยันว่ากฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุผลทางวิชาการรองรับ ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิชาการ เช่น งานวิจัยที่กทม.ทำเอ็มโอยูลงนามร่วมกับม.ศิลปากร ในยุคนายอภิรักษ์ โกษะโยธินเป็นผู้ว่ากทม. แต่สุดท้ายในยุคปัจจุบัน กลับไม่ยอมรับผลนั้น นอกจากนี้ กทม. มีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ชาวป้อมมหากาฬ ก็เป็นคนกรุงเทพฯเช่นกัน นี่เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่กทม. ไม่สามารถละทิ้งได้

“ยืนยันว่าพรฎ. เวนคืนนั้น โดยหลักการสามารถแก้ไขวัตถุประสงค์ได้ อยู่ที่ว่าจะมีความจริงใจที่จะแก้หรือไม่ โดยมีแนวทางแก้หลายแนวทาง หนึ่งคือ แก้วัตถุประสงค์ให้ใช้พื้นที่เป็นสวนสาธารณะในรูปแบบพิพิธภัณฑ์บ้านไม้โบราณและรักษาโบราณสถาน สอง คือ แก้ทั้งฉบับ แต่กทม.อาจต้องลงงบประมาณใหม่อีกครั้ง เพราะต้องจ่ายค่าชดเชยใหม่ในราคาที่ดินในวันประกาศใช้พรฎ. ส่วนตัวยินดีเป็นคณะทำงานด้นกฎหมายว่าจะแก้ไขพรฎ.ดังกล่าวอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่กทม.ติดขัดมาตลอด” นายอภิชาตกล่าว

Advertisement

ด้านผู้แทน ปปช. กล่าวว่า ล่าสุดตนได้รับจดหมายร้องเรียน เรื่องกทม. ไม่ทำตามพรฎ.เวนคืน คือชุมชนป้อมมหากาฬยังอยู่ต่อ ซึ่งกฤษฎีกาบอกต้องรื้อ ประเด็นนี้ เห็นใจกทม. ว่ารื้อก็โดน ไม่รื้อก็โดน ทั้งนี้หากแก้พรฎ.ได้ เรื่องอาจคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่มีปัญหาทางเทคนิค คือ คนที่ย้ายออกไปแล้วจะรู้สึกอย่างไร

นายปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ชาวบ้านที่ย้ายออกไปก่อนนั้น ถือว่าไม่ได้ร่วมต่อสู้ เมื่อเหตุการณ์จบ จึงไม่สามารถอ้างสิทธิ์ได้ ปัญหาที่เรื้อรังกว่า 20 ปีนี้ มีการพูดคุยในประเด็นซ้ำเดิม ประชุมเสร็จก็เริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง ดังนั้นจากนี้ไปขอให้มองไปข้างหน้า

“ชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้ มีสิทธิ์ในการได้ผลหลังจากนั้น ในการต่อสู้จะเหยียบเรือสองแคมไม่ได้ มิฉะนั้นจะรวนถึงกระบวนการการต่อสู้ภาคประชาชน ถ้าไม่ร่วมสู้ จะมาอ้างอะไรอีกไม่ได้ ประเด็นที่พูดกันมา 20 กว่าปี วนอยู่เหมือนเดิม มี 3 เรื่อง 1.ชาวบ้านอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ไหม โดยเอากรมศิลป์มาอ้าง 2. ชาวบ้านอยู่กับสวนสาธารณะไม่ได้ 3. ล่าสุดผู้บริหาร กทม.บอกว่า ไม่ขัดข้องที่ชาวบ้านจะอยู่กับโบราณสถานและสวนสาธารณะ แต่ขอให้ลูกน้องของตนไม่โดนเล่นงานว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ นี่คือความกังวลของกทม.” นายปฐมฤกษ์กล่าว

นางภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้นผังเมือง กล่าวว่า โดยผังเมืองรวม กทม. ก็กำหนดให้ชุมชนอยู่ได้ มีการกำหนดเขตโบราณสถาน ซึ่งเท่าที่ตนดูทิศทางของกทม.แล้ว ข้อจำกัดอย่างเดียวคือ พรฎ.เวนคืน ซึ่งนักกฎหมายยืนยันแล้วว่าสามารถแก้วัตถุประสงค์ได้ ซึ่งข้อมูลด้านประวัติศาสตร์จะนำไปสู่การแก้ไข ไม่ใช่เพื่อชุมชนป้อมมหากาฬเท่านั้น แต่จะเป็นพื้นที่นำร่องให้ชุมชนอื่นๆในกรุงเทพฯด้วย โดยตนขอเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นกลไกกลางในเรื่องนี้

ป้อมมหากาฬ 1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีผู้นำความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีชุมชนป้อมมหากาฬของนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งมีข้อเสนอว่า ควรวางผังสวนสาธารณะใหม่ โดยแบ่งสัดส่วนออกเป็น 2 ส่วน คือ สวนสาธารณะ และพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง สำหรับประเด็นที่มีการจ่ายเงินไปแล้วนั้น สิ่งที่ทำได้คือ ให้กทม.ออกระเบียบรับรองประชาชนกลุ่มนี้เป็นลูกจ้างกทม. โดยชุมชนต้องยอมรับในหลักการเบื้องต้นก่อนว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินรัฐ ซึ่งเป็นทางออกที่เทียบเคียงกับการอยู่อาศัยในอุทยานแห่งชารติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สามารถสร้างบ้านได้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีถนนมอเตอร์เวย์สายบางนา ซึ่งมีการเวนคืนพื้นที่ แต่มีการกันบางส่วนเป็นจุดจอดรถ เป็นที่รับประทานอาหาร พักผ่อน และจำหน่ายของที่ระลึก ซึ่งเป็นแนวทางที่น่าพิจารณา

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศิลปากร ซึ่งระบุว่า ป้อมมหากาฬเป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 2492 หน้าที่กรมศิลป์คือควบคุมสิ่งก่อสร้างไม่ให้เกิดใหม่ ทำได้เพียงการสร้างทดแทนของเก่า โดยในพรบ. โบราณสถานให้อำนาจแก่อธิบดีว่าจะอนุญาตให้อยู่อาศัยได้หรือไม่ แต่จะมีคณะกรรมการช่วยกลั่นกรอง ส่วนตัวมองว่าชุมชนอยู่อาศัยกับโบราณสถานได้ โดยต้องไม่ทำลายภูมิทัศน์

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ประธานในที่ประชุมกล่าวว่า กสม.จะทำจดหมายด่วนที่สุดถึงมรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เพื่อขอให้หยุดการไล่รื้อก่อน อีกทั้งขอให้งดให้ข่าวรายวัน เพื่อสร้างบรรยากาศในการอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อกฎหมายในการยุติการไล่รื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังปิดการประชุม ได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายชื่อคณะทำงาน โดยเบื้องต้นมีการเสนอชื่อบุคคลต่างๆ อาทิ นาย กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายชาตรี ประกิตตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม. ศิลปากร, นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ม.มหิดล, นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย , นางภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง, นายศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์, นายปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ รวมถึงตัวแทนจากกรมศิลปากร ซึ่งจะแจ้งชื่ออีกครั้ง นอกจากนี้จะมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกรมธนารักษ์ เป็นต้น

ป้อมมหากาฬ 2

ป้อมมหากาฬ 4

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image