สธ.ห่วงฆาตกรรมคนในสายเลือดพุ่ง แนะพ่อแม่อย่าเลี้ยงลูกด้วยความรุนแรง

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ความรุนแรง เหตุฆาตกรรมในครอบครัว ในลักษณะลูกฆ่าพ่อ ลูกฆ่าแม่ หรือในลักษณะของฆาตกรรมในคนที่มีสายเลือดเดียวกันนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ว่าจะเกิดขึ้นได้มาก ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ คือเรื่องของการใช้ความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่ต้น เช่น สามี ภรรยา มีการทะเลาะตบตีกันนั้นจะมีผลกระทบต่อจิตใจของลูก เมื่อโตมาจะมีปัญหา 2 รูปแบบคือ 1.ป่วยซึมเศร้า และ 2.เป็นผู้ก่อความรุนแรงเอง บางคนไปลงกับลูก ซึ่งการใช้ความรุนแรงกับลูกนั้นจะเป็นตัวที่ไปกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก หรือแม่กับลูกได้ ให้มีความเปราะบาง ยิ่งเมื่อเด็กโตขึ้นไปเจอกับสิ่งเร้าต่างๆ อาจจะทำให้กลับมาตอบโต้พ่อ แม่ตัวเองด้วยความรุนแรง ความสัมพันธ์ในบางครอบครัวรุนแรงถึงขั้นขาดสะบั้นลูกไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเป็นพ่อ เป็นแม่ การป้องกันที่ดีคือพ่อแม่ต้องรู้จักวิธีการจัดการตัวเองไม่ใช้ความรุนแรงกับลูก หากพบว่าลูกพฤติกรรมรุนแรงก็ต้องรู้จักที่จะหันเหอารมณ์ของลูกตั้งแต่ยังเล็กและที่สำคัญคือการให้ความอบอุ่นกับลูกตลอดเวลา

พญ.พรรณพิมลกล่าวต่อว่า ขณะนี้การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ยกเว้นสงคราม พบว่ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นในทั่วโลก ประเทศไทยก็เหมือนกัน ตอนนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้สถานการณ์ความรุนแรง เป็นสถานการณ์ที่ทุกประเทศจะต้องช่วยกันดูแล ล่าสุดได้มีการส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์ความรุนแรงในประเทศไทย และภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมมือกันดำเนินการภายใต้แผนและแนวทางการแก้ไขเรื่องความรุนแรง โดยในส่วนของไทยจะมุ่งเน้นระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นตัวหลักที่จะช่วยป้องกัน แก้ไข บำบัดและเยียวยา เช่น เมื่อมีผู้บาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงทุกรูปแบบเข้ามารักษา ก็จะต่อยอดวิเคราะห์สาเหตุ และนำไปสู่แนวทางการป้องกัน และที่จริงๆ ก่อนเกิดความรุนแรงมักจะมีสัญญาณเตือนบางอย่างก่อน ดังนั้น เบื้องต้นจะใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการค้นหากลุ่มเสี่ยงให้เข้ารับการเยียวยาก่อนก่อเหตุ นอกจากนี้ จะจัดทำข้อมูลความรุนแรง โดยเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกับตำรวจ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image