GISTDA ระบุข้อมูลจากดาวเทียมพบไทยเผชิญฝุ่น PM2.5 มาแล้วเกือบ 20 ปี

GISTDA ระบุข้อมูลจากดาวเทียมพบไทยเผชิญฝุ่น PM2.5 มาแล้วเกือบ 20 ปี

ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควัน เป็นปัญหาเชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางตั้งแต่ในเมืองใหญ่ ไปจนถึงพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายแดน ปัญหา PM2.5 เป็นอีก 1 ปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์อย่างรุนแรงในระยะยาว รวมถึงผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก การป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วนผ่านการเข้าถึงฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่ต่อเนื่อง ทันสมัย และเชื่อถือได้ เพื่อที่แต่ละภาคส่วนจะได้มองเห็นและเข้าใจสภาวการณ์และสถานการณ์ที่เป็นจริง ซึ่งการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินตามแผนงาน/กิจกรรม/โครงการ/มาตรการต่างๆ หรือแม้กระทั่งการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการจัดการฝุ่นละอองโดยเฉพาะ PM2.5 เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ปัจจุบัน ดาวเทียมสำรวจโลกที่ติดตั้งเซนเชอร์ตรวจวัดจากระยะไกล สามารถให้ข้อมูลปริมาณฝุ่นละออง ทั้งที่เป็น PM10 และ PM2.5 ได้ ข้อได้เปรียบของการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมก็คือสามารถวัดและรายงานปริมาณฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศได้ทุกที่ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งได้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการวิเคราะห์และประมวลผล

ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทยว่า การใช้ประโยชน์ข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศรับมือกับมลภาวะทางอากาศ จะช่วยลดข้อจำกัดของการใช้เครื่องมือตรวจวัดภาคพื้นดินได้เป็นอย่างดี การนำข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีการตรวจวัดอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อมูลดาวเทียมจากแหล่งต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยให้เข้าใจและเห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นในการวางแผนแก้ไขปัญหา PM2.5 ในระดับยุทธศาสตร์ การวางแผนสั่งการและติดตามประเมินผลในระดับนโยบาย รวมถึงการวิเคราะห์ติดตามมลพิษข้ามพรมแดน

Advertisement
ดร. ปกรณ์ อาภาพันธุ์

โดยที่ผ่านมา GISTDA ได้เก็บข้อมูลจากดาวเทียมและพบว่าประเทศไทยเผชิญฝุ่นละอองขนาดเล็ก และ PM2.5 มายาวนาน ข้อมูลจากดาวเทียมบางส่วนระบุแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของ PM2.5 ในประเทศไทยช่วงปี 2541 – 2559 มีค่าความเข้มข้นกระจุกในพื้นที่ภาคเหนือค่อนข้างมาก โดยเฉพาะน่าน พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮองสอน ซึ่งอยู่ในจุดเสี่ยงที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานมานานเกือบ 20 ปี ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่เก็บมาตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่มีการนำเครื่องมือวัดเข้ามาเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่เพิ่งจะมีเครื่องวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปัจจุบัน GISTDA ใช้ดาวเทียมระบบ MODIS ในการติดตามสถานการณ์ PM2.5 ซึ่งเราจะได้ข้อมูลวันละ 2 รอบ คือเช้าและบ่าย นอกจากนี้ GISTDA ยังได้เพิ่มประสิทธิภาพสำหรับการติดตามสถานการณ์ดังกล่าว โดยใช้ดาวเทียม Himawari (ฮิมาวาริ) ซึ่งเป็นดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่นอีก 1 ดวงที่จะทำให้เราได้รับข้อมูลที่รวดเร็วและแม่นยำในทุกๆ ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องได้นำไปประยุกต์ใช้วางแผน ติดตาม ตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ปัญหาฝุ่น PM ถือเป็นวาระแห่งชาติที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้คลี่คลาย จริงอยู่ว่าการแก้ไขอาจต้องใช้เวลา แต่เราในฐานะพลเมืองควรร่วมมือกันในการลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น และร่วมติดตามคุณภาพอากาศอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินความเสี่ยง ฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายโดยผ่านระบบทางเดินหายใจ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากแหล่งอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม แหล่งก่อสร้างประเภทต่างๆ ทะเล การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การเผาในที่โล่งจำพวกพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตร และกองขยะ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ จนเกิดเป็นละอองหรืออนุภาคต่างๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image