สธ.ชี้ เทศกาลดนตรีที่สิงห์ปาร์ค เสี่ยงต่ำ ไม่จำเป็นต้องกักตัว แนะวัดไข้สังเกตอาการ

แพทย์ ชี้ เทศกาลดนตรีสิงห์ปาร์ค เสี่ยงต่ำไม่จำเป็นต้องกักตัว แนะ วัดไข้สังเกตอาการ

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าวความคืบหน้าการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากการที่ในวันนี้ มีการแถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยจำนวน 6 ราย ซึ่งเป็นการนำเข้าเชื้อมาจากเมียนมา โดยมีบางรายมีประวัติไปเที่ยวในงานเทศกาลดนตรีที่สิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย แต่บริเวณที่ผู้ป่วยเข้าไปดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นพื้นที่เปิด และไม่ได้เข้าไปบริเวณเวทีคอนเสิร์ต ดังนั้นกลุ่มผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงที่สุด คือ ผู้ที่ร่วมวงดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน ซึ่งสามารถระบุตัวแล้วนำมากักตัวแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการกักตัวศิลปินที่เข้าร่วมงานคอนเสิร์ต เป็นเวลา 14 วัน เป็นมาตรการที่เกินความจำเป็นหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า หากจะต้องกักตัวศิลปินที่แสดงคอนเสิร์ตอยู่บนเวที และไม่ได้เข้ามาสัมผัสกับผู้ป่วยเลย การกักตัว 14 วัน อาจเป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น ซึ่งกลุ่มเสี่ยงจะมีเพียงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและร่วมวงดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน ดังนั้นผู้ที่ไปในงานรวมถึงศิลปินที่แสดงคอนเสิร์ต อาจไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่หากไม่สบายใจก็ให้ทำการเฝ้าสังเกตอาการตนเองเป็นระยะเวลา 14 วัน สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ไม่เข้าไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และรวมกับการวัดไข้ตนเองทุกวัน

“เนื่องจากไม่ทราบว่าศิลปินได้เข้าไปพบกับผู้ชมมากน้อยเพียงใด ดังนั้นในส่วนของมาตรการดูแลศิลปิน อาจจะต้องให้สังเกตอาการของตนเองและทำการตรวจเชื้อนับไปอีก 5 วันหลังจากที่อยู่ในงานคอนเสิร์ตวันสุดท้าย ทั้งนี้การจะต้องกลับตัวผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตทุกราย ถือว่าเป็นคนจำนวนมากซึ่งมีความจำเป็นน้อย ดังนั้นการเฝ้าสังเกตอาการของตนเองและยังสามารถไปทำงานได้จึงเหมาะสมกว่า” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามต่อว่า กรณีผู้ติดเชื้อที่เจอใน กทม. เป็นรายเดียวกับที่มีรายงานข่าวว่าพักอยู่ในพื้นที่เขตบางนาหรือไม่ และพื้นที่ใดคือจุดเสี่ยง ใน กทม. และมีผู้สัมผัสกี่ราย นพ.โสภณ กล่าวว่า เป็นรายเดียวกันในการรายงานผู้ป่วยแถวย่านอุดมสุข ในส่วนของผู้สัมผัส คือ แฟนผู้ป่วยอยู่ในระหว่างกักตัว และติดตามตัวคนขับรถแท็กซี่มาเพื่อตรวจหาเชื้อ

“ต้องอธิบายว่าผู้สัมผัสใกล้ชิดคือจะต้องอยู่ในระยะใกล้กัน 1 เมตร พูดคุยกันมากกว่า 5 นาที โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งจากกรณีผู้ที่ร่วมเที่ยวบินเดียวกัน ใน 2 แถวหน้าและ 2 แถวหลังยังถือว่าเป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงแต่ไม่สูง เนื่องจากมีมาตรการการสวมหน้ากากอนามัยขณะบิน และสายการบินจะระบุตัวผู้โดยสารที่ใกล้ชิด และแจ้งไปเพื่อเฝ้าสังเกตอาการของตนเอง ในกลุ่มผู้เสี่ยงต่ำจะตรวจหาเชื้อหรือไม่ตรวจหาเชื้อก็ได้ เนื่องจากบางคนอาจจะมีความเสี่ยงต่ำมากจนอาจจะไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเลยด้วยซ้ำ แต่เพื่อความสบายใจของประชาชนจึงจัดให้อยู่ในกลุ่มรายชื่อเสี่ยง” นพ.โสภณ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image