นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบปลิงชนิดใหม่ของโลก ในร่องสวนยาง จ.สงขลา

นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบปลิงชนิดใหม่ของโลก ในร่องสวนยาง จ.สงขลา

วันที่ 4 ธันวาคม คณะผู้วิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ ปลิงชนิดใหม่ของโลก Placobdelloides sirikanchanae พบครั้งแรกเกาะอยู่กับเต่าน้ำจืด ในร่องสวนยาง จังหวัดสงขลา

คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.ปรเมศร์ ตรีวลัยรัตน์, นางสาวกฤติยา เชียงกุล นิสิตปริญญาเอก และ รศ.ดร.วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบปลิงชนิดใหม่ของโลก Placobdelloides sirikanchanae มีชื่อสามัญว่า Sirikanchana’s leech ชื่อไทย ปลิงอาจารย์ประไพสิริ พบเกาะอยู่กับเต่าน้ำจืด โดยเฉพาะกลุ่มเต่าใบไม้ เช่น เต่าใบไม้ท้องดำมลายู (Cyclemys enigmatica) และ เต่าใบไม้เอเชีย (C. dentata) ปลิงชนิดนี้จะดูดเลือดจากเต่าเป็นอาหาร และสามารถกินเนื้อเยื่ออ่อน (soft tissues) และกระดองเต่า โดยใช้งวงที่เหมือนเข็ม (proboscis) ในการเจาะกิน ถูกค้นพบครั้งแรกในร่องยางตามสวนยางในตำบลสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย

ปลิงอาจารย์ประไพสิริ มีขนาดเล็กยาวประมาณ 40 มิลลิเมตร ตัวใส มีเม็ดสีสีเขียวและน้ำตาลเข้มกระจายทางด้านหลัง มีเส้นแถบสีแดงเป็นแนวยาวกลางหลัง มีตา 1 คู่ อยู่บริเวณปล้องที่ 3 การแยกชนิดของปลิงชนิดนี้ใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยา โดยการเปรียบเทียบยีน COI และ ND1 โดย phylogenetic tree ของยีน COI-ND1 ระบุว่า P. sirikanchanae มีลักษณะแตกต่างจาก Placobdelloides ชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะปลิงโล่สยาม (P. siamensis) ที่เคยมีรายงานในไทยก่อนหน้านี้

Advertisement

รศ.ดร.วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปลิงเป็นปรสิตแบบชั่วคราว ดูดกินเลือดและของเหลวจากร่างกายของเต่า ทำให้เกิดบาดแผล รวมทั้งอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียตามมาหากมีปริมาณมากอาจทำให้เต่าตายได้ นอกจากนั้นปลิงยังเป็นพาหะนำเชื้ออื่นเข้าสู่ร่างกายของเต่าได้ ปลิงที่พบในเต่านี้ สามารถที่จะติดไปยังเต่าตัวอื่นๆได้ ดังนั้นการปล่อยเต่าตามแหล่งน้ำจึงควรระมัดระวัง เพราะอาจนำปลิง รวมทั้งเชื้อที่อยู่ในปลิงติดไปยังเต่าที่อยู่เดิมในแหล่งน้ำ ส่วนการตั้งชื่อปลิงชนิดใหม่ว่าปลิงอาจารย์ประไพสิริ นั้น เพื่อเป็นเกียรติ แด่ รศ.ประไพสิริ สิริกาญจน อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยรศ.ประไพสิริ สิริกาญจน เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาด้านปรสิตของสัตว์น้ำในประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image