ศิริราช เผย ‘โควิดจากพม่า’ แพร่เร็ว คนละสายพันธุ์กับอู่ฮั่น เตือนคนไทยยกการ์ดสูงขึ้น

ศิริราช เผย ‘โควิดจากพม่า’ แพร่เร็ว คนละสายพันธุ์กับอู่ฮั่น เตือนคนไทยยกการ์ดสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 และการผลิตวัคซีนป้องกันผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ของ Mahidol university ว่า จากการถอดบทเรียนการระบาดของพม่าที่พบการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากครั้งแรกที่เจอผู้ป่วยโควิดวันที่ 23 มี.ค. ถึง 6 ธ.ค. จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 200 เท่า และแพร่กระจายไปพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

เพราะการตามสอบสวนโรคประชาชนที่เดินทางจากพื้นที่ระบาดทำได้น้อยกว่า 50% อีกทั้งสายพันธุ์ที่แพร่ในพม่าเป็นคนละสายพันธุ์กับอู่ฮั่นที่ระบาดในช่วงแรก D614 แต่พม่าเป็นสายพันธุ์ G614 ที่พบแพร่ระบาดในประเทศแถบตะวันตกและทั่วโลกขณะนี้ ซึ่งความต่างคือสายพันธุ์ที่แพร่ในพม่า ตัวเชื้อสามารถเพิ่มจำนวนได้เร็วกว่า 20% ทำให้แพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ทั้งนี้ คนไทยกลับจากพม่าโดยไม่ยอมเข้าระบบและปกปิดข้อมูลตนเองจะเป็นอันตราย ทั้งคนในครอบครัว สังคม บุคคลากรทางการแพทย์

“สถานการณ์นี้ทำให้เห็นว่าจุดอ่อนแม้แต่จุดเดียว อาจส่งผลมหาศาลต่อประเทศและส่งผลกระทบเชิงลบให้กับสังคม จึงขอความร่วมมือคนไทยยกการ์ดขึ้นสูง ใช้วัคซีนที่เรามีคือปฏิบัติตามคำแนะนำ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนเข้าออกเมื่อใช้สถานที่ แนะคนรู้จักให้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง เพื่อให้เรามีภูมิป้องกันโควิดได้ทันทีโดยไม่ต้องรอวัคซีนที่ยังต้องใช้เวลาอีกนานไม่ต่ำกว่าครึ่งปีกว่าจะได้ใช้ หากสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อได้เราก็จะได้ฉลองปีใหม่ แต่หากไม่สามารถทำได้ และเกิดการแพร่กระจายเชื้อก็อาจจะไม่ได้ฉลองปีใหม่ ” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า 3 ปัจจัยที่น่าห่วงขณะนี้ คือ อากาศเย็นที่ทำให้คนอยู่ในอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไม่สวมหน้ากากมากขึ้น ชายแดนที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งพม่า และมาเลเซีย โดยเฉพาะคนที่ลักลอบเข้ามาเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการระบาดได้ และการชุมนุมต่างๆ แต่อยากให้เข้าใจและย้ำเตือน เพราะไม่มีใครชนะหากเกิดการระบาดขึ้น

จึงอยากขอให้หลีกเลี่ยง ในส่วนของ รพ.ขณะนี้ทุกแห่งได้เตรียมการรับมือแล้ว แต่ก็หวังจะไม่เกิดการระบาดรุนแรง ส่วนความคืบหน้าการผลิตวัคซีน ล่าสุดบริษัทต่างๆ ที่ผลิตใน 2 ล็อตแรกถูกจองหมดแล้ว สำหรับประเทศไทยที่มีข้อตกลงกับแอสตราเซนเนกา หากไทยได้รับข้อมูลองค์ความรู้มาเมื่อไร ก็จะต้องผ่านกระบวนการผลิตอีก 4 เดือน และต้องผ่านการตรวจสอบจากอย.อีก 3 รอบใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะได้ฉีดครั้งแรกหลังเดือนพ.ค. 2564

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image