ศบค.ยัน ไม่ห้ามจัดกิจกรรมปีใหม่ ขอความร่วมมือคุมแอลกอฮอลล์ ชี้ ทำให้ขาดสติป้องกันโรค

ศบค.ยัน ไม่ห้ามจัดกิจกรรมปีใหม่ ขอความร่วมมือคุมแอลกอฮอลล์ ชี้ ทำให้ขาดสติป้องกันโรค

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัด มีคำสั่งให้ระงับการจัดกิจกรรมเทศกาลดนตรี บิ๊กเมาท์เท่น จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การที่คนจำนวนมากมาอยู่รวมกันเป็นความเสี่ยง แต่ก็ไม่สามารถให้ยุติกิจกรรมเหล่านี้ได้ เพราะเราต้องทำให้ประชาชนใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับชีวิตปกติที่สุด แต่ต้องอยู่ภายใต้ของชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ใช้กันทั่วโลก ยืนยันว่าไม่มีการห้ามให้จัดกิจกรรม แต่จะต้องได้รับความร่วมมือจาก 3 ฝ่าย คือ 1.เอกชน จะต้องควบคุมมาตรการให้กลับไปเป็นนิวนอร์มอลให้ได้ 2.รัฐบาล ที่มีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมโรค ที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด เทียบเคียงว่างานที่เอกชนจะจัดตรงกับมาตรการหรือไม่ เป็นความเหนื่อยยากของทั้ง 2 ฝ่าย และ 3.ประชาชน จะต้องให้ความร่วมมือ เนื่องจากเมื่อถึงเวลาที่อยู่หน้างานจริงแล้วจะมีคนจำนวนมาก ดังนั้นทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติให้เป็นทิศทางเดียวกัน

“การประมาณการว่ามีคนเข้ามาร่วมกิจกรรมในหลักพันถึงหมื่น จะต้องมีมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์แล้ว การควบคุมหรือว่าการให้ความร่วมมือจะยากมากขึ้น เนื่องจากการควบคุมสติอารมณ์จะเปลี่ยนไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

เมื่อถามว่าการจัดกิจกรรมต่างๆ ในช่วงปีใหม่หรือเทศกาลต่างๆ ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น นำมาสู่การปฏิบัติที่เข้มงวดมากขึ้น การยกระดับจะต้องเกิดขึ้นจาก 3 ฝ่าย จะขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้หาก เช่น เมื่อรัฐออกมาตรการมาแล้วแต่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือก็จะไม่เกิดผล

“ช่วงปีใหม่นี้จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทุกคนยังทำมาหากินได้ แต่ต้องให้ความร่วมมือกันในข้อปฏิบัติ กติกาให้เป็นไปตามนิวนอร์มอล แต่ก็ยังมีความกังวลใจเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทำให้คุมสติไม่อยู่ ยกตัวอย่างเช่นในเทศกาลวันสงกรานต์นั้น ประชาชนให้ความร่วมมือกันอย่างมาก ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของปีนี้ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งรัฐเองก็อยากเห็นภาพนี้ในวันปีใหม่นี้เช่นกัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

แพทย์แนะงานเคาต์ดาวน์ แบ่งโซนย่อย ลดความเสี่ยงโควิด

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าวรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ถึงกรณีกิจกรรมเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาเท่น จ.นครราชสีมา ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม

นพ.โสภณกล่าวว่า ในกรณีกลุ่มคนที่เป็นคนรู้จักกันแล้วไปแคมปิ้งในภูเขาเป็นที่โล่งแจ้ง ความเสี่ยงก็จะน้อย ก็เหมือนการเปลี่ยนสถานที่รับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้นความเสี่ยงก็จะไม่ต่างกัน แต่อย่างกรณีคอนเสิร์ตที่บิ๊กเมาท์เท่น คนที่ไม่รู้จักกันไปรวมกัน ความเสี่ยงที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อเข้าไปในงานก็จะมีมากขึ้น แต่หากเป็นกลุ่มเล็กความเสี่ยงที่จะพบผู้ติดเชื้อก็จะลดน้อยตามลงไป จึงแนะนำว่า การจัดกิจกรรมควรแบ่งออกเป็นโซนหรือกลุ่มย่อยเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนในเรื่องของงดการดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก แต่ถ้าเป็นงานขนาดเล็กความเสี่ยงก็จะน้อยกว่างานขนาดใหญ่อยู่แล้ว

Advertisement

เมื่อถามว่ามาตรการควบคุมการป้องกันโรคของคอนเสิร์ตบิ๊กเมาท์เท่น เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด-19 ในไทยหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคจะแปรไปตามจำนวนคน เรากำลังเล่นกับคน 30,000 คน หากจะเจอคนติดเชื้อก็มีความเสี่ยงมาก แต่ถ้าจัดแค่ 30 คนโอกาสที่จะพบคนติดเชื้อก็น้อย ดังนั้นหากเรานำผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน มาจัดเป็นกลุ่มเล็ก การติดตามผู้สัมผัสก็จะมีวงจำกัดมากขึ้น ซึ่งในกรณีการจัดกิจกรรมเคาต์ดาวน์ปีใหม่ ก็ควรไปในทิศทางเดียวกัน

นพ.โสภณกล่าวว่า ในการรวมตัวของประชาชนควรจะลดการเคลื่อนที่ข้ามจังหวัดให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรค เช่น ในการจัดกิจกรรม 1 งาน จะมีคนเข้ามาร่วมจากหลายจังหวัด ซึ่งหากพบการติดเชื้อขึ้น การสอบสวนโรคก็จะต้องดำเนินการในพื้นที่วงกว้างมากขึ้น ซึ่งโดยอัตราส่วนของผู้ป่วย 1 ราย จะมีผู้สัมผัสประมาณ 30-40 ราย ดังนั้นความเสี่ยงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ตนมีความเห็นว่าการรวมตัวกันของประชาชน ควรจะดำเนินการให้อยู่ภายในจังหวัดที่ตนเองพักอาศัยอยู่ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image