คลินิกหมอครอบครัว จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง

แม้ไม่ใช่นโยบายที่ริเริ่มในยุคนี้ แต่ “คลินิกหมอครอบครัว” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา ภายใต้การจับตามองเป็นพิเศษว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. จะขับเคลื่อนนโยบายนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากนโยบายนี้มีการดำเนินการมาแล้วหลายยุคหลายสมัย แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายนัก เรียกว่ากลายเป็นนโยบายในอุดมคติก็ว่าได้

เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เนื่องจากการเดินหน้าคลินิกหมอครอบครัว หรือทีมหมอครอบครัว เป็นงานบริการ ร่วมกับงานสาธารณสุขมูลฐานที่ต้องอาศัยระบบพื้นที่เป็นหลัก เป็นการทำงานเชิงรุก โดยทีมสหวิชาชีพด้านสาธารณสุขร่วมกัน เน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมไปถึงการรักษาโรคทั่วไปที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ลดปัญหาคนไข้กระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไม่ต้องรอคิวนานๆ ลดภาพความแออัดที่เห็นกันอย่างจำเจ แต่ที่ผ่านมาจะมุ่งการรักษามากกว่าการป้องกันโรค ดังนั้น จึงมีความพยายามขับเคลื่อนแนวคิดสร้างนำซ่อม เน้นการดูแลสุขภาพมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่ยุคบุกเบิกสมัย นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัด สธ. ผู้บุกเบิกสาธารณสุขมูลฐานเมื่อช่วงปี 2521-2525 จนก่อให้เกิดอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำงานเป็นทีมดูแลประชาชน สอดรับกับนโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้าขององค์การอนามัยโลก กระทั่งเข้าสู่ยุคระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสมัย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทดลองจัดตั้งหน่วยปฐมภูมิ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อบริการประชาชน และจากนั้นก็เริ่มมี การกระจายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในการทำงานเพื่อชุมชนมากขึ้น

กระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรื่องดังกล่าวก็ถูกให้ความสำคัญ โดย นพ.นิทัศน์ รายยวา อดีตรองปลัด สธ. เดินหน้าเรื่องนี้ในชื่อว่า นักสุขภาพครอบครัว ซึ่งต้องการให้ประชาชนมีคนดูแลเหมือนญาติ สามารถพูดคุยในเรื่องต่างๆ ได้ และมีความต่อเนื่อง เป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างประชาชนกับหน่วยบริการของรัฐ โดยอาศัยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งพยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ทันตาภิบาล แพทย์แผนไทย ฯลฯ ลงไปทำงานกับชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทดลองทำใน 5 จังหวัด มีหนองคาย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี และบึงกาฬ จนถึงสมัย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความสนใจและผลักดัน โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “ทีมหมอครอบครัว” แต่ก็ยังไม่ถึงฝั่ง มีเหตุให้เกิดการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี เป็น นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ซึ่งแน่นอนว่าเดินหน้าเรื่องนี้ แต่ในชื่อว่า “คลินิกหมอครอบครัว”

Advertisement

เกิดคำถามว่า เมื่อมาถึงยุคนี้จะเดินหน้าจนถึงฝั่งได้หรือไม่…

นพ.ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้หนึ่งที่ทำงานบริการปฐมภูมิมาก่อน เห็นว่ากระทรวง พยายามขับเคลื่อนเรื่องทีมหมอครอบครัวมานาน แต่ในอดีตด้วยค่านิยม ทั้งของชาวบ้านและของหมอก็ยังไม่พร้อม ทั้งชาวบ้านก็ยังไม่ค่อยมั่นใจกับสาธารณสุขชุมชน และมักจะไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อยากไปพบแพทย์เฉพาะทางมากกว่า ขณะที่แพทย์จบใหม่ก็อยากศึกษาแพทย์เฉพาะทาง ทั้งๆ ที่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเป็นแพทย์ที่ให้บริการด้านปฐมภูมิ ให้คำปรึกษาชาวบ้าน รักษาโรคทั่วไป กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก

นพ.ทวีเกียรติกล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยน และนโยบายก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมทั้งปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ประกอบกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น การจะไปรอรับยาในโรงพยาบาลคงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องกระจายการบริการออกไป ซึ่งทีมหมอครอบครัวเป็นคำตอบ และเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จ เพราะประชาชนก็ไม่อยากไปรอคิวรักษานานๆ ส่วนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่จะมาอยู่ในทีมหมอครอบครัว ร่วมกับบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ นั้น ก็ต้องมาดูว่าจะจูงใจอย่างไรให้หันมาทำงานด้านนี้ อาจเป็นค่าตอบแทน แต่จุดสำคัญ คือ การสร้างคุณค่าให้แก่แพทย์สายนี้ หากทำได้ความนิยมก็จะเพิ่มขึ้นเอง

Advertisement

สำหรับนโยบายคลินิกหมอครอบครัว ระยะแรกจะเริ่มในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) /โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เบื้องต้น 16 แห่ง 12 เขตสุขภาพ (กลุ่มจังหวัดต่างๆ) ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และภายในปี 2560 ตั้งเป้าให้คนไทย 1 ล้านครอบครัว มีหมอครอบครัวดูแล ก่อนขยายไปทั่วประเทศ ภายในปี 2565 โดยทีมหมอครอบครัว 3 ทีมจะดูแลประชากรประมาณ 30,000 คน ส่วนเขตชนบทให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่อยู่ใกล้กันรวมกันเป็นกลุ่มดูแลประชาชน 30,000 คน ต่อ 3 ทีมเช่นกัน ใช้หลักดูแลความเจ็บป่วยมากกว่าดูแลเฉพาะโรค ซึ่งหากมีโรคเฉพาะทางที่ไม่สามารถดูแลได้ต้องส่งต่อ รพศ.รพท.

ส่วนแผนการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับคลินิกหมอครอบครัว จะร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว การผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เป้าหมายจะผลิตได้ปีละ 600 คน เป็นแผนระยะกลาง ระยะยาว แต่ในระยะสั้น จะใช้แพทย์ที่เกษียณอายุราชการ หรือแพทย์ที่สนใจงานด้านเวชศาสตร์ครอบครัว มารับการอบรมเพิ่มหลักสูตร 3-6 เดือน ขณะเดียวกันสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ อาทิ พยาบาล หมออนามัย จะมีหลักสูตรสาขาเวชปฏิบัติครอบครัวให้เข้ารับการอบรม โดยจะปรับให้มีระบบสร้างจูงใจและค่าตอบแทนให้คนคงอยู่ในระบบด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image