แรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน ตกงานจากโควิด ไร้เงิน-ที่อยู่ กลับประเทศไม่ได้

แรงงานข้ามชาติกว่า 7 แสนคน ตกงานจากโควิด ไร้เงิน-ที่อยู่ กลับประเทศไม่ได้

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) จัดแถลงข่าว “แรงงานข้ามชาติกับโควิด-19 : เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2563 (International Migrants Day 2020)

นายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แถลงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการข้ามแดน ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากรัฐบาลไทย ได้ประกาศใช้พ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายกิจการต้องปิดตัวลง รวมถึงการปิดการเดินทางเข้า-ออกตามแนวชายแดน ส่งผลให้ช่วงเดือนมีนาคม- เมษายนที่ผ่านมา เฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ และปริมณทล เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กาญจนบุรี พังงา ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ระยอง ชลบุรี แรงงานข้ามชาติไม่มีงานทำถึง 345,072คน แบ่งเป็นรายกิจกาค ค่อ ก่อสร้าง 77,354 คน , โรงงานอุตสาหกรรม (ชิ้นส่วนรถยนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูปผลิตอาหาร ฯลฯ) 83,532 คน ,งานบริการ 42,647 คน , ด้านการท่องเที่ยว การโรงแรมและงานต่อเนื่อง 57,325 คน ,ร้านอาหาร 44,393 คน ,เกษตรและต่อเนื่องเกษตร 32,436 คน และอื่น ๆ 7,385 คน โดยคาดว่าตัวเลขนี้มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาจริง ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 7 แสนคน

นายอดิศร ระบุว่า มาตรการในการดำเนินการของรัฐได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติดังนี้

Advertisement

1. แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งถูกเลิกจ้าง และบางส่วนนายจ้างไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้ นอกจากนี้หลายกิจการไม่มีการนำแรงงานข้ามชาติเข้าเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ทำให้แรงงานข้ามชาติ ไม่ได้รับการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐตามโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ให้ความช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

2. แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้าง หรือถูกสั่งให้แรงงานข้ามชาติพักงานอย่างไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีการจ่ายชดเชยหรือค่าจ้าง รวมทั้งการเข้าถึงกลไกคุ้มครองและเยียวยายังเต็มไปด้วยอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องตามช่องทางปกติ ที่ต้องยื่นคำร้องที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถทำได้ เนื่องจากหลายพื้นที่มีการห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ และเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ในมาตรการทำงานจากบ้าน ขณะที่การยื่นคำร้องในระบบออนไลน์ทำได้ยากเนื่องจากเวบไซต์ที่ใช้ยื่นมีเพียงภาษาไทย (มีภาษาอังกฤษในบางส่วน) และมีเงื่อนไขเรื่องเอกสารและหลักฐานการยื่นอื่น ๆ ค่อนข้างมาก

3. นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติมีความตึงตัว ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการจ้างแรงงานปัจจุบันได้ แรงงานข้ามชาติหลายคนเมื่อถูกเลิกจ้างก็ไม่สามารถย้ายนายจ้างได้โดยง่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้แรงงานข้ามชาติจะต้องพิสูจน์ให้เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นความผิดของนายจ้างเดิม หรือชดใช้ค่าเสียหายให้นายจ้างเดิม และจะต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งไม่สามารถทำได้ในช่วงการระบาดของโควิด-16 ซึ่งการยึดกฎหมายเป็นหลักโดยไม่ผ่อนปรนในกรณีนี้ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งหลุดจากการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย นอกจากนั้นแล้วยังพบนายจ้างจำนวนหนึ่งที่เลิกจ้างโดยใช้วิธีการไม่ต่อใบอนุญาตทำงานที่กำลังดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และ

Advertisement

4. รัฐบาลยังขาดความชัดเจนในการจัดการแรงงานข้ามชาติที่รอเข้าประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังมาตรการการผ่อนคลาย ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าหนึ่งแสนคนที่รอเดินทางเข้าประเทศ ทั้งแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิใบอนุญาตทำงาน (Re-Entry Visa) เพื่อเดินทางกลับประเทศแล้วยังไม่ได้กลับเข้ามา ประมาณ 69,235 คน และแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า ที่นายจ้างได้ยื่นหนังสือแสดงความต้องการ (Demand Letter) ไปที่ประเทศต้นทางแล้ว และนายจ้างยังต้องการนำเข้ามา แต่ไม่สามารถดำเนินการขั้นตอนต่อไปได้ ประมาณ 42,168 คน

“แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่ดำเนินการขอนำเข้าตาม MoU ที่รอการดำเนินการได้มีการกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้ ดอกเบี้ยเงินกู้และภาระหนี้สินก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การขาดแนวทางที่ชัดเจนและปลอดภัยในการนำเข้า ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งลักลอบเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย” ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติระบุ


แฉ นายจ้างลอยแพ ไม่ทำให้ออกงาน-ไม่ชดเชย หวังเรียกกลับหลังโควิด-19 

น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า นโยบายรัฐที่สั่งปิด ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ไม่ได้มีผลกระทบที่เกิดขึ้นเฉพาะภาคบริการเท่านั้น แต่ปัญหาลงลึกไปถึงภาคการผลิต ที่ผลิตสินค้าส่งห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมตัดเย็บ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และคนกลุ่มคนเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือต่างๆของรัฐ รวมถึงผลกระทบทางกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาช่วยเหลือจากกองทุนประกันสังคม ที่เยียวยาแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ เพราะนายจ้างไม่ยอมออกใบออกจากงานให้ เนื่องจากคิดว่าเมื่อโควิด-19 หายไป จะเรียกคนงานเหล่านี้กลับคืนมา

“ไม่แจ้งออก แต่ก็ไม่รับผิดชอบในการจ่ายเงินตอนหยุดชั่วคราว ไม่มีค่าชดเชยถ้าให้ออก โดยอ้างว่าโควิด-19มา ไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชย ถือเป็นการฉกฉวยโอกาสในพริบตาเดียว มีเงื่อนไขกับแรงงาน ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากรัฐได้ทั้งที่เขามีสิทธิได้รับ โดยจากการลงพื้นที่ 23 โรงงานมี แค่ 3 โรงงานเท่านั้นที่แรงงานได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย” น.ส.สุธาสินีระบุ

น.ส.สุธาสินี กล่าวว่าเมื่อแรงงานเข้าไม่ถึงมาตรการของรัฐ ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตในไทยได้ จึงต้องกลับบ้านเกิด แต่รัฐก็ออกมาตรการขอให้แรงงานข้ามชาติพำนักอยู่ในไทยไปพลางๆก่อน แต่อยู่แบบที่รัฐเองก็ไม่ได้เยียวยาอะไร ทำให้คนงานลำบากมาก บางคนไม่มีอาหาร ไม่มีค่าเช่าห้อง อย่าง แรงงานชื่อ วาววา เป็นแรงงานชาวเมียนมาที่ท้อง แต่ถูกเลิกจ้าง และเธอมีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก ส่วนสามีเพิ่งกลับประเทศต้นทางตอนที่พาสปอร์ตหมดอายุ และเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วาววา ต้องอยู่คนเดียว โดยที่ไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าว

การเสวนาเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) ได้อ่านข้อเสนอในเรื่องการบริหารจัดการและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 หกข้อที่มีต่อรัฐไทยซึ่งมีรายละเอียดังนี้

1. รัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการ และแผนการในการจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ในแต่ละระยะ (สั้น กลาง ยาว) ให้ชัดเจน ที่รับรองว่าแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เข้าถึงสิทธิและบริการตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากนโยบายรัฐ หรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับแรงงานข้ามชาติ

2. รัฐบาลไทยจะต้องกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยกำหนดแนวทางในการป้องกันไม่ให้แรงงานข้ามชาติในประเทศหลุดจากระบบการจ้างงาน เช่น เงื่อนไขในการเปลี่ยนย้ายนายจ้างให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีมาตรการดึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่นอกระบบให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง และกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรองรับแรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเด็นไทย ควบคู่ไปกลับมาตรการป้องกันโรค

3. รัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศต้นทางจะต้องเร่งดำเนินการจัดทำเอกสารหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทาง ให้แก่แรงงานข้ามชาติที่เอกสารประจำตัวกำลังจะหมดอายุซึ่งกำลังจะกลายเป็นคนเข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และรัฐบาลไทยจะต้องมีมาตรการรองรับเร่งด่วนโดยผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการด้านการต่อเอกสารประจำตัวได้ทัน ให้สามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างรอการดำเนินการ รวมถึงมีมาตรการร่วมกันในการเดินทางข้ามแดนในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติ

4. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการเข้าถึงการคุ้มครองแรงงาน และการได้รับสิทธิประโยชน์ในประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน โดยคำนึงถึงข้อจำกัดด้านภาษา เอกสารแสดงตน สถานะทางกฎหมาย เช่น การจัดทำระบบการรับคำร้องหรือยื่นคำร้องทางออนไลน์ที่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ ลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคลงเป็นต้น

5. รัฐบาลไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงสาธารณสุข จะต้องกำหนดนโยบายและมาตรการที่รองรับการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติ คนข้ามชาติ และทุกคนในประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงการมีหลักประกันทางสุขภาพและป้องกันโรคติดต่อ เช่น การเปิดขายประกันสุขภาพ หรือการกำหนดให้ทุกคนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล การตรวจโรคได้เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19

6. รัฐบาลไทยและกระทรวงศึกษาจะต้องมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือให้เด็กข้ามชาติ สามารถเข้าถึงการศึกษา การเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และป้องกันการแสวงหาประโยชน์ การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก ในกลุ่มเด็กข้ามชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image