นักวิจัยไทยเจ๋ง ทำหมัน’ยุง’ป้องกันไข้เลือดออก-ชิคุนกุนยา ครั้งแรกของโลก ฮูเชิญโชว์เวทีนานาชาติ

รศ.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะฯ ม.มหิดล

รศ.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อความเป็นเลิศพาหะ และโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ได้ศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพกำจัดยุงลาย โดยการนำแบคทีเรียของยุงลายสวน และยุงรำคาญ มาพัฒนาและใส่ลงไปในยุงลายบ้าน โดยเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวจะมีความต้านทานต่อโรคไข้เลือดออกได้ จากนั้นได้นำมาฉายรังสีเพื่อให้ยุงเป็นหมัน โดยจะทำเฉพาะในยุงตัวผู้เท่านั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเพาะเพิ่มจำนวนให้มากพอ และภายใน 2-3 เดือนนี้จะนำไปปล่อยในพื้นที่นำร่องที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อให้ยุงที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีชื่อว่า “TH AB” ไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียที่เป็นยุงลายบ้านทั่วไป ซึ่งจะทำให้ควบคุมปริมาณยุงลายได้ และไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลกระทบต่อระบบนิเวศจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากไม่ได้มีการดัดแปลงพันธุกรรม แต่เป็นการใช้เทคนิคทางชีวภาพเท่านั้น

“ที่น่าสนใจคือ จากความสำเร็จครั้งนี้จะมีการประชุมระดับนานาชาติ โดยองค์การอนามัยโลกและทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) จะจัดงานประชุมควบคุมโรคที่ประเทศบราซิล ในวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งได้เชิญทีมวิจัยไปด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และนำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ นำไปควบคุมปริมาณยุงต่อไป ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่เราพัฒนาสายพันธุ์ยุงให้ป้องกันไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยาได้ ส่วนซิกาในหลักการน่าจะควบคุมได้ แต่จะศึกษาอย่างละเอียดอีกครั้ง” รศ.ปัทมาภรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image