เครือข่ายผู้บริโภคบุก อย. ค้านแก้ประกาศ ฉลากอาหาร

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อยื่นเรื่องคัดค้านกรณีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้มีการปรับแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ.2557 เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยอ้างว่ามีข้อจำกัดจำนวนมากไม่สามารถปฏิบัติได้ และนำมาสู่การพิจารณาในที่ประชุมดังกล่าว โดยมี น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานอาหาร อย. เป็นผู้รับหนังสือ

นายพชร แกล้วกล้า นักวิชาการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ประกาศฉบับ นี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ธันวาคม 2559 กำหนดว่า 1.การแสดงรายการวัตถุเจือปนอาหารตามกลุ่มหน้าที่ ซึ่งครอบคลุมวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตด้วย แต่กลับขอแสดงเพียงแค่ตัวเลข ISN หรือรหัสสากลของสารเคมีสำหรับอาหารเพียงอย่างเดียว ทำให้ ผู้บริโภคไม่ทราบว่าเป็นสารอะไร และจะไม่แสดงวัตถุเจือปนที่มากับวัตถุดิบด้วย เพราะมองว่าไม่จำเป็นต้องรู้ ทั้งที่เป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ควรทราบ 2.การให้ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร ซึ่งต้องแสดงสารก่อภูมิแพ้ในส่วนที่มากกว่า 1 สายการผลิตด้วย คืออาจมีสารก่อภูมิแพ้จากสายการผลิตอื่นปนมาด้วย จำเป็นที่จะต้องระบุให้ชัด แต่ผู้ประกอบการกลับมองว่าไม่ควรแสดง 3.เรื่องการแสดงวันที่ผลิต วันหมดอายุ และควรบริโภคก่อน หากปรับแก้ก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมคือ ผู้ผลิตจะเลือกบอกวันที่ผลิต วันหมดอายุ หรือวันควรบริโภคก่อนก็ได้ 4.การแสดงรายชื่อผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงประเทศที่ผลิตเป็นภาษาไทย ซึ่งผู้ประกอบการอ้างว่าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หากทำฉลากเป็นภาษาไทยเลยจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น จึงอยากให้นำสินค้าเข้ามาก่อนแล้วค่อยแปะฉลาก ซึ่งปัจจุบันไม่มีโรงพักสินค้าแล้ว หากนำเข้ามาก็กระจายไปได้ทันที และ 5.ขนาดอักษรในการแสดงฉลากต้องสอดคล้องกับพื้นที่ฉลาก ซึ่งผู้ประกอบการก็อ้างว่ามีพื้นที่ขนาดเล็กทำไม่ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของการออกแบบ

น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าวว่า ข้อเสนอจากกลุ่มผู้บริโภคก็จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุฯ ฉลาก ของ อย.ด้วย โดยจะมีการพิจารณาข้อเสนอของแต่ละฝ่ายอย่างรอบคอบ และเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เบื้องต้นยังไม่มีการแก้ประกาศฯ ตามที่ผู้บริโภคกังวล แต่อาจมีการแก้ส่วนของฉลากสารก่อภูมิแพ้ เช่น การปรับจากใช้อักษรคำเตือนมาเป็นสัญลักษณ์สีแดง ซึ่งสังเกตได้ง่ายกว่า เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image