สมุทรสาครต้องใช้ รพ. 2-3 พันเตียง เหตุพบติดโควิด-19 วันละกว่าร้อยราย
เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การจัดตั้งโรงพยาบาล (รพ.) สนามนั้น เป็นการจัดตั้งตามความจำเป็น ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลที่เราตั้งเป็นประจำ มีความต้องการใช้เพียงชั่วคราว เมื่อจบภารกิจก็ยกเลิก ซึ่ง รพ.สนามที่ใช้ในครั้งนี้จะเป็นในลักษณะของ cohort ward รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโดยไม่มีอาการหรืออาการน้อย
เนื่องจากครั้งนี้เป็นการติดเชื้อในกลุ่มก้อนใหญ่ จากการตรวจค้นหาคัดกรองเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับทุกคนไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติ ผู้ที่เป็นผลบวกก็ไม่อยากให้ไปอยู่ที่บ้าน เราก็พยายามนำเข้าที่ปลอดภัย ซึ่ง รพ.สนามมีความเหมาะสมที่สุด โดยจะอยู่ในรูปแบบของ community มีที่นอนและเดินได้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ป่วยที่มีอาการ ก็คงจะต้องมีกิจกรรมต่างๆ ทำ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้เข้าไปดูแลในส่วนนี้ด้วย และในส่วนของสถานพยาบาล ก็จัดไว้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหรืออาการมาก
อย่างไรก็ตาม นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ความต้องการสำหรับ จ.สมุทรสาคร อยู่ราวประมาณ 2-3 พันเตียง เนื่องจากมีการค้นหาเชิงรุก ยังพบผู้ป่วยอยู่เรื่อยๆ วันละกว่าร้อยราย และต้องรับบางส่วนมาจากตลาดกลางกุ้งด้วย ซึ่งหากคิดเป็นร้อยละ 40-50 ก็มีความต้องการประมาณร้อยถึงพันเตียง เป็นเรื่องของมนุษยธรรม เราก็อยากให้ทุกคนได้รับการดูแล แต่ด้วยพื้นที่ราชการของกระทรวงเองไม่เพียงพอ จึงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐอื่นรวมถึงเอกชนที่มีความกรุณาเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ มอบพื้นที่สนับสนุนมา
ทั้งนี้ รพ.สนามจะต้องมีระบบสุขาภิบาล ถูกสุขอนามัยตามมาตรฐานในระดับ รพ. ที่กระทรวงรับรอง โดยทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบโครงสร้าง กรมควบคุมโรคดูแลเรื่องระบบการป้องกันโรค กรมการแพทย์ให้การดูแลผู้ป่วย กรมสุขภาพจิตเข้าไปจัดกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน และดูแลความเครียด เป็นต้น ในส่วนการขนส่งผู้ป่วยเองก็จะต้องเป็นตามมาตรฐานของ สธ. ผู้ดำเนินการจะต้องผ่านอบรมและมีประสบการณ์ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเชื้อไม่ได้แพร่ในทางอากาศจึงมีความปลอดภัยต่อชุมชน ขณะที่ สถานกักกันในโรงงานหรือ Factory Quarantine ก็มีความปลอดภัยเช่นเดียวกัน โดยจะได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าไปควบคุมป้องกันโรค
ในส่วนของการตีตราผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า โควิด-19 เป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่มีโอกาสติดผู้อื่นได้ ซึ่งตอนแรกเรามีความรู้ในโรคน้อย ก็กลัวว่าจะเป็นอะไร แต่การแบ่งแยกจะทำทำร้ายจิตใจคน เพราะหากผู้ที่รู้ว่าตัวเองป่วยก็ไม่ได้อยากแพร่เชื้อให้ใคร ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยอยู่แล้ว มีความเครียดในการติดเชื้ออยู่แล้ว หากเราคนไทยด้วยกัน มนุษยชนโลก ไม่ว่าใครเจ็บป่วยก็ให้การดูแลช่วยเหลือ ต้องนึกถึงหัวอกหัวใจกัน ผู้ที่เดือดร้อนก็ได้รับการดูแลในฐานะมนุษย์โลกคนหนึ่ง หากเราไปรังเกียจเดียดฉันท์ ก็จะเป็นความรู้สึกไม่ดี ก็จะเกิดปัญหาคิดมาก วิตกกังวล ซึมเศร้า และโรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เรามีความรู้มากพอสมควร เราก็พยายามควบคุมให้เขาอยู่ในที่ปลอดภัย ใครมีโอกาสช่วยเหลือก็นับว่าเป็นบุญ