สธ. ห่วง ‘หนุ่ม-สาว’ ติดเชื้อไม่มีอาการ แพร่ให้ผู้สูงอายุ-ตรวจช้ามีโอกาสตาย

สธ. ห่วง ‘หนุ่ม-สาว’ ติดเชื้อไม่มีอาการ แพร่ให้ผู้สูงอายุ-ตรวจช้ามีโอกาสตาย

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เมื่อวันที่ 17 มค.ว่า สถานการณ์ระดับโลก พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 94.95 ล้านราย ขณะนี้มี 18 ประเทศ มีรายงานผู้ป่วยมากกว่า 1 ล้านราย 10 อันดับแรกจะมีมากกว่า 2 ล้านราย ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย บราซิล รัสเซีย และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 127 ของโลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 12,054 ราย เสียชีวิต 70 ราย อัตราการเพิ่มของโควิด-19 ในระดับโลก คงที่สูงถึงวันละ 6-8 แสนราย ผู้หายป่วยและกลับบ้านก็เพิ่มขึ้นตามด้วย ส่วนอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ร้อย 2.1

นพ.โสภณ กล่าวว่า ข้อมูลที่น่าสนใจของประเทศไทยคือประเทศบ้านเพื่อน เช่น มาเลเซีย เมียนมา มีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นและมีสะสมมากกว่า 1 แสนราย จึงทำให้ไทยยังมีความเสี่ยงในผู้เดินทางเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน มีโอกาสติดเชื้อในเปอร์เซ็นต์สูง ส่วนประเทศอื่นที่ติดกับไทย เช่น ลาว กัมพูชา ยังมีสถานการณ์ค่อนข้างดี โดยกัมพูชารายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 ราย

สถานการณ์ของประเทศไทยวันนี้มีรายใหม่ 374 ราย ส่วนใหญ่มาจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน ทำให้ตัวเลขสะสมอยู่ที่ 12,054 ราย แต่ส่วนใหญ่กลับบ้านแล้ว ยังอยู่ในระหว่างรักษา 2,969 ราย เป็นผู้มีการปอดอักเสบ 26 ราย ประเทศไทยมีอัตราเสียชีวิตต่ำอยู่ที่ร้อยละ 0.58 สำหรับการระบาดรอบใหม่ ในช่วง 1 เดือนเศษ มีผู้ป่วยแล้ว 7,817 ราย เพิ่มขึ้นสูงมาก เมื่อเทียบกับจำนวนก่อนหน้าจะเกิดการระบาดรอบใหม่มีผู้ป่วยเพียง 4 พันกว่าราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่มีอาการระบาดรอบใหม่มีผู้เสียชีวิต 10 ราย เป็นคนไทย 9 ราย และอีก 1 รายเป็นชายชาวอังกฤษ

นพ.โสภณ กล่าวว่า แผนที่ประเทศไทยจำแนกตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการรักษาในรายจังหวัด มี 29 จังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อรักษาอยู่หรือรักษาหายหมดแล้ว ส่วนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรักษาอยู่ไม่เกิน 10 รายมี 30 จังหวัด ไม่เกิน 100 รายมี 13 จังหวัดและมีมากกว่า 100 รายมี 5 จังหวัด แสดงให้สถานการณ์ของบางจังหวัดไม่มีผู้ป่วยแล้ว ขณะที่การคัดกรองเชิงรุกกลุ่มแรงงานต่างด้าวทำให้พบผู้ติดเชื้อใน จ.ตรัง 2 ราย เป็นแรงงานในโรงงานแปรรูปยางพารา มี 1 ราย เข้ารักษาที่โรงพยาบาล แต่เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายจึงได้รับการตรวจหาเชื้อด้วย เมื่อวันที่ 14 มกราคม ผลตรวจพบเชื้อ และอีก 1 ราย เป็นพนักงานในโรงงานเดียวกัน ได้รับการตรวจและพบเชื้อเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่ในระหว่างเฝ้าระวังติดตามอาการแล้ว

Advertisement

นพ.โสภณ กล่าวว่า กรณี จ.สุราษฎร์ธานี เริ่มเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ต่อมาถึงต้นเดือนมกราคม มีการสอบสวนควบคุมโรคและพบผู้เกี่ยวข้องในหลายจังหวัด เหตุการณ์นี้มีผู้ติดเชื้อรวม 11 ราย เริ่มต้นจาก สมุทรสาคร 2 ราย เป็นหญิง อายุ 50 ปี ติดเชื้อไม่มีอาการ และบุตรสาว อายุ 20 ปี มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับญาติที่สุราษฎร์ธานี และพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดรวม 8 ราย มีทั้งเด็ก คนสูงอายุทั้ง 75, 55 และ 57 ปี ที่มีโอกาสเสี่ยงให้มีอาการรุนแรง และอีก 1 รายพบใน นครศรีธรรมราช อีกกรณีติดเชื้อในครอบครัว เขตทวีวัฒนา กทม. เริ่มจากวัยทำงาน หนุ่มสาวติดเชื้อก่อน เมื่อกลับมาบ้านก็มีโอกาสพบผู้สูงอายุและเด็กในบ้าน การสอบสวนโรคติดตามผู้ติดเชื้อใน 2 ครอบครัว มีทั้งผู้สูงอายุ 91, 71 และ 73 ปี เมื่อแพร่เชื้อโดยไม่สังเกตหรือสงสัยว่าติดโควิด-19 คิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา จึงมีโอกาสแพร่เชื้อในครอบครัวหลายคน

นพ.โสภณ กล่าวว่า การติดเชื้อและตรวจวินิจฉัยล่าช้า มีโอกาสเสียชีวิตได้ ในการระบาดรอบใหม่ มีผู้เสียชีวิตสะสม 10 ราย พบว่ามีตั้งแต่อายุ 40-88 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว พบมากในกลุ่มนี้คือโรคเบาหวาน บางรายมีโรคหลอดเลือดสมอง มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และบางรายเป็นโรคมะเร็ง มีเพียง 1 รายที่ไม่มีประวัติโรคประจำตัว ดังนั้นการเสียชีวิตในเวลาเพียง 1 เดือนสะท้อนให้เห็นว่าการวินิจฉัยและเข้าสู่การรักษาที่เร็ว เป็นเรื่องสำคัญและลดโอกาสเสียชีวิต

“สถานการณ์ของไทย จำนวนจังหวัดที่พบผู้ป่วยลดน้อยลง ส่วนใหญ่อยู่ในระดับควบคุมได้ ผู้ติดเชื้อที่พบมากขึ้นเกิดจากการค้นหาเชิงรุกในสถานประกอบการ ในจ.สมุทรสาคร เป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็เริ่มพบแรงงานต่างด้าวในภาคต่างติดเชื้อด้วย เช่นวันนี้มีตรังและพัทลุง หน่วยงานในพื้นที่ได้ยกระดับเฝ้าระวังรวมถึงการสอบสวนหาสาเหตุของการติดเชื้อในพื้นที่ด้วย” นพ.โสภณ กล่าว

Advertisement

นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ในครอบครัว โดยเฉพาะวัยทำงานมีโอกาสรับเชื้อมาและแพร่ไปยังผู้สูงอายุ ดังนั้นการยกระดับการค้นหาเชิงรุกในชุมชนในจังหวัดที่ยังมีการติดเชื้ออยู่ เช่น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและสูงสุดเข้มงวด ต้องกำกับติดตามให้กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เฝ้าระวังจนครบ 14 วัน เพื่อโอกาสแพร่เชื้อต่อในชุมชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image