สภากาชาดไทยร่อนหนังสือแนวช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้-อากาศหนาว-โควิด

สภากาชาดไทยร่อนหนังสือถึงนายกเหล่ากาชาดทุกจังหวัด แนะแนวช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้-อากาศหนาว-โควิด

เมื่อวันที่ 18 มกราคม นายกฤษฏา บุญราช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ได้ทำหนังสือถึงนายกเหล่ากาชาดจังหวัดทุกจังหวัด ขอแนะนำแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณภัยตามพันธกิจของเหล่ากาชาด ว่า ตามที่ได้เกิดสาธารณภัยในพื้นที่ทั้งปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่รวมทั้งสภาพอากาศหนาวเย็นในหลายพื้นที่ นั้น

เพื่อให้การบริหารความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบสาธารณภัย(Crisis Management)ต่างๆข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบสาธารณภัย  สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด จึงขอแนะนำแนวทางการบริหารจัดการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดและโครงการความช่วยเหลือประชาชนที่หน่วยงานส่วนกลางในสังกัดสภากาชาดไทยได้ส่งไปสนับสนุนการดำเนินงานของเหล่ากาชาดจังหวัด ดังนี้

1.ในการช่วยเหลือประชาชนในสภาวะเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่นั้น สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดสามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้ตั้งไว้แล้วโดยสามารถนำมาใช้ดำเนินการจัดซื้อถุงยังชีพหรือเครื่องใช้อุปกรณ์ในครัวเรือนเพื่อแจกจ่ายผู้ประสบสาธารณภัยได้ตามระเบียบสภากาชาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ การเงินและบัญชีของเหล่ากาชาดจังหวัด ในกรณีที่ประชาชนผู้ประสบภัยไม่สามารถหุงหาอาหารได้เองเนื่องจากสภาพภัยที่เกิดขึ้น เช่น น้ำท่วมหรือเกิดอัคคีภัยไหม้บ้านทั้งหลังจนไม่มีสถานที่ประกอบอาหารได้ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดก็สามารถใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ของเหล่ากาชาดจังหวัดไปใช้ดำเนินการจัดตั้งครัวเคลื่อนที่เพื่อปรุงอาหารสุกแจกจ่ายผู้ประสบภัยหรือจัดซื้ออาหารปรุงสุกให้แก่ผู้ประสบภัยเหล่านั้นได้โดยตรงเช่นกัน

2.ในกรณีที่เหล่ากาชาดจังหวัดประสงค์ขอรับการสนับสนุนชุดธารน้ำใจจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ผ่านสถานีกาชาดภาค/เขตในพื้นที่ก็สามารถดำเนินการได้โดยแจ้งขอรับการสนับสนุนผ่านระบบแอพพลิเคชั่น พ้นภัย โดยมอบหมายให้ผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนหรือ อสม.หรือในกรณีที่ผู้นำชุมชน/หมู่บ้านและอสม.ไม่สามารถใช้ระบบแอพพลิเคชั่น พ้นภัย ได้ก็ให้ขอความร่วมมือนายอำเภอในพื้นที่เป็นผู้ส่งข้อมูลความต้องการความช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชั่น พ้นภัยมายังสำนักงานบรรทุกข์ฯได้เช่นกัน ซึ่งสภากาชาด
ไทยได้ขอความร่วมมืออธิบดีกรมการปกครองไว้ให้แล้ว

Advertisement

3.ในกรณีที่พื้นที่ใดมีความช่วยเหลือจากสำนักงานบรรเทาทุกข์ฯหรือหน่วยงานราชการและหรือภาคเอกชนอื่นๆแล้ว เพื่อมิให้เกิดการใช้งบประมาณหรือการให้ความช่วยเหลือของเหล่ากาชาดจังหวัดซ้ำซ้อนกันในพื้นที่เดียวกัน ก็ให้เหล่ากาชาดจังหวัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ตรงกับปัญหาและความต้องการที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เช่น เมื่อมีการแจกจ่ายถุงยังชีพชุดธารน้ำใจครบถ้วนครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยแล้ว เหล่ากาชาดจังหวัดก็สามารถใช้งบประมาณของตนเองไปดำเนินการจัดตั้งครัวเคลื่อนที่หรือจัดหาอาหารปรุงสุกเพื่อแจกจ่ายเเก่ประชาชนที่ประสบภัยที่ยังไม่ได้รับถุงยังชีพชุดธารน้ำใจหรือประชาชนกลุ่มที่ไม่สามารถประกอบอาหารเองได้ หรือไปให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางทางสังคมกลุ่มอื่นๆที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆต่อไปได้

ทั้งนี้ หากเหล่ากาชาดจังหวัด มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่เพียงพอ เหล่ากาชาดจังหวัดสามารถขออนุมัติจ่ายขาดจากเงินสะสม ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติการจ่ายขาดเงินสะสม มายังสภากาชาด
ไทยเป็นกรณีๆอีกทางหนึ่งได้เช่นกันรวมทั้งหากยังมีข้อสงสัยในการบริหารจัดกางานของเหล่ากาชาดจังหวัดก็สามารถโทรศัพท์หารือแนวทางปฎิบัติหรือการทำงานมายังผช.ผอ.สำนักงานฯ(คุณวิทยา:โทร 093-545-4959)หรือที่ปรึกษาสำนักงานฯ(คุณสุกานดา:โทร.061-436-4400)

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากยังมีปัญหาอุปสรรคในการปฎิบัติงานก็ให้รายงานให้ทราบดัวย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image