ด่วน!!พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” เข้าอ่าวตังเกี๋ยบ่ายนี้7จังหวัดภาคเหนือเสี่ยงดินถล่ม 19-20 สิงหา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายสมหมาย เตชวาล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 18-20 สิงหาคม นี้ ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนทีวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่แล้ว มีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ โดยคาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนปกคลุมอ่าวตังเกี๋ยในบ่ายวันที่ 18 สิงหาคม จากนั้นจะเคลื่อนผ่านประเทศเวียดนามตอนบนในวัน ที่ (19 สิงหาคม และประเทศลาวตอนบนต่อไป ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 19-20 สิงหาคม ภาคเหนือ บริเวณจ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากฝนที่ตกหนักและฝนตกสะสมไว้ด้วย

นายสมหมาย กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศ และใช้แบบจำลองพื้นที่อ่อนไหวต่อดินถล่ม พบว่า พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มในช่วง 1-2 วัน ซึ่งอาจมีฝนตกในช่วงค่ำวันที่ 18 สิงหาคม ประกอบด้วย จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ อ.ขุมยวม ปางมะผ้า ปาย แม่ลาน้อย แม่สะเรียง และสบเมย จ.เชียงราย ในพื้นที่อ.แม่ลาว แม่สรวย จ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ อ.เชียงดาว ดอยสะเก็ด ดอยหล่อ แม่แจ่ม แม่ริม แม่วาง แม่ออน สันทราย และหางดง จ.ลำพูน ในพื้นที่ อ.หัวทุ่ง บ้านธี บ้านโฮ่ง และแม่ทา จ.ลำปาง ในพื้นที่อ.เกาะคา แจ้ห่ม เถิน เมืองปาน แม่ทะ แม่พริก เสริมงาม และห้างฉัตร จ.ตาก ในพื้นที่อ.แม่ระมาด และแม่สอด ซึ่งนอกจาก 7 จังหวัดที่อาจเสี่ยงภัยดินถล่มในช่วง 1-2 วันนี้แล้ว ยังมีพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือที่เสี่ยงภัยดินถล่ม รวม 15 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ตาก แพร่ แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ ลำพูน เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร สุโขทัย พะเยา พิษณุโลก และนครสวรรค์ รวม 129 อำเภอ 520 ตำบล 3,965 หมู่บ้าน ที่อาจเกิดภัยดินถล่มทั้งสิ้น ทั้งนี้อยากให้ประชาชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ช่วยกันเฝ้าระวังสถานการณ์เสี่ยงภัยดินถล่มอย่างใกล้ชิด

รองอธิบดีทธ. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทธ. ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนช่วงเกิดเหตุ โดยได้สำรวจพื้นที่ จัดทำแผนการเฝ้าระวังร่วมกับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม พร้อมทั้งซักซ้อมการเฝ้าระวังและปฏิบัติตนในช่วงที่เกิดเหตุอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ประชาชนสามารถดูข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยของทธ. รวมทั้งสถานการณ์ฝนจากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี โทร 0-2621-9701-5

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image