จุรินทร์ นำ ปล่อยขบวนรถพม.โมบาย“ปันสุข สู่ชุมชน”ตระเวนเยี่ยมช่วยกลุ่มเปราะบาง 28 จว.

จุรินทร์ นำ ปล่อยขบวนรถ พม.โมบาย“ปันสุข สู่ชุมชน” ตระเวนเยี่ยมช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง 28 จังหวัดพื้นที่สีแดงจากผลกระทบโรคโควิด-19

เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่บริเวณลานหน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เปิดงานโครงการ “พม. Mobile ปันสุข สู่ชุมชน” และปล่อยขบวนรถ Mobile ปันสุข ณ บริเวณลาน พระประชาบดี กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับข้าราชการผู้บริหารกระทรวง โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตามไปเยี่ยมเยียนช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง ผู้ประสบปัญหาทางสังคม และผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในพื้นที่ 28 จังหวัดควบคุมสูงสุด โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ดำเนินงาน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตู้ปันสุขของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.ที่จะกระจายไปสู่ชุมชนต่างๆทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและใน 28 จังหวัด ที่อยู่ในข่ายมีการแพร่ระบาดของโควิดในระดับที่ต้องเข้าไปดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งกระทรวง พม.ก็มีส่วนที่จะเข้าไปช่วยคลี่คลายปัญหาในชุมชนที่มีการสำรวจว่าเป็นชุมชนอาจจะมีปัญหาการเข้าถึงเครื่องอุปโภคบริโภคจะจัดให้มีรถ Mobile ปันสุข เพื่อนำสินค้าอุปโภคบริโภคไปให้ถึงชุมชนเหล่านั้น มีเป้าหมายชัดเจนว่าในแต่ละจังหวัดมีที่ไหนบ้าง เพื่อเอาสินค้าอุปโภคบริโภคไปมอบให้กับผู้ที่อยู่ในชุมชนนั้นโดยสิ่งของทั้งหมดได้จากการรับบริจาคโดยกระทรวง พม.เป็นแม่งานและมีฝ่ายต่างๆมาบริจาคส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันทั้งข้าวสารปลากระป๋อง น้ำปลา น้ำมันพืช นมและสินค้าอื่นๆตั้งแต่วันนี้ถึงอย่างน้อยวันที่ 31 มีนาคมจะประเมินอีกครั้งหนึ่งถ้ายังมีความจำเป็นก็จะดำเนินการต่อ

” หวังว่าอย่างน้อยจะเป็นส่วนหนึ่งและอีกหลายหน่วยงานก็เข้าไปช่วยกันรัฐบาลก็มีหน้าที่เข้าไปช่วยดูแลอย่างต่อเนื่องทั้งในกลุ่มของครอบครัวยากจน ครอบครัวเปราะบาง ครอบครัวเกษตรที่ไร้ที่ทำกินซึ่งเป็นฐานรากสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลและจะยังมีมาตรการต่อไป พม.เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปช่วย ” นายจุรินทร์ กล่าว

Advertisement

นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับเรื่องการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ พม.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ต้องเข้าไปดูว่ามีการปรับอย่างไรหรือไม่ ส่วนในเรื่องของการจ่ายเงินกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการต้องมาคุยกันทั้งหมดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเป้าหมายคือ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลผู้สูงอายุให้ดีที่สุดเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล และของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่จะต้องร่วมกันบูรณาการร่วมกันส่วนกฎระเบียบที่ยังไม่เหมาะสมต้องปรับปรุงแก้ไขก็จะไปแก้ ขณะนี้ท่านนายกสั่งการแล้วว่าให้หน่วยไหนบ้างไปคุยปรับแก้อย่างไร และในรถจะมีการรับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆด้วยและมีนักสังคมสงเคราะห์ที่จะติดรถไปด้วยเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำสภาพปัญหาต่างๆ โดยจะเริ่มต้นจากหมู่บ้านชุมชนที่ได้มีการไปสำรวจเบื้องต้นแล้วว่าเป็นชุมชนที่จำเป็นอย่างยิ่งและถ้ามีผู้บริจาคมากขึ้นก็จะกระจายไปยังจุดอื่นเพิ่มเติมต่อไป

ด้าน นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดพม.รายงานว่า นอกจากรถ พม.โมบายแล้วยังมีการตั้งตู้ “พม. ปันสุข” และ ตู้ “พม. รับทุกข์” ณ จุดบริการทั้ง 57 จุด เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ด้านการดำรงชีวิตให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในชุมชนโดยตรง รวมทั้งการรับเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งทีม พม. One Home จังหวัด จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ กระทรวง พม. ได้มีการเปิดระบบการติดตามการใช้บริการ พม. (Service Tracking System) เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่อขอใช้บริการของ พม. เช่น เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เงินสงเคราะห์การจัดการงานศพผู้สูงอายุตามประเพณี เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน เป็นต้น ”

น.ต. ธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบติดตามสถานะการใช้บริการของกระทรวง พม. ได้ ด้วยตนเอง เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ติดตามเรื่องที่ขอรับบริการได้ ทั้งนี้ สามารถเข้าไปติดตามสถานะ การใช้บริการได้ที่ https://status.m-society.go.th ซึ่งได้มีการเปิดระบบให้ใช้งานแล้ว เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา

Advertisement


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image