คืบเรียกคืนเบี้ยชรา ‘จุติ’ ประสานทนายอาสาช่วย ยันแก้ปัญหาภายใต้ กม. ไม่หาเสียง   

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

คืบเรียกคืนเบี้ยชรา ‘จุติ’ ประสานทนายอาสาช่วย ยันแก้ปัญหาภายใต้ กม. ไม่หาเสียง   

กรณีการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวนมากในหลายจังหวัด เนื่องจากผู้สูงอายุเหล่านั้นได้รับเงินบำนาญพิเศษอยู่เดิมแล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สูงอายุทั่วประเทศที่ต้องถูกเรียกคืนดังกล่าวประมาณ 15,000 คนที่ได้รับความเดือดร้อน

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ประสานขอความร่วมมือไปยัง สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฏหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และอาสาสมัครทนายความต่างๆ ให้ส่งนักกฎหมายไปให้คำปรึกษาหารือกับผู้สูงอายุทุกคน ร่วมกับพัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัด (พมจ.) และศูนย์ผู้สูงอายุที่มีอยู่ทั่วประเทศ ที่จะเอารายชื่อผู้สูงอายุจากท้องถิ่น เพื่อเข้าให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเป็นรายเคสต่อไป

“เบื้องต้นคงต้องดูในรายละเอียด ตั้งแต่การให้ข้อมูลทำโดยสุจริตหรือไม่ โดยให้หน่วยงานท้องถิ่นได้ชี้แจง ส่วนผู้สูงอายุเองได้รับทราบคุณสมบัติข้อนี้มาก่อนไหม ช่วยเหลือกันรายเคส จะไปเหมารวมหมดไม่ได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป และเรื่องนี้ไม่ใช่การหาเสียง”  

นายจุติ กล่าวอีกว่า จริงๆ เรื่องนี้มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 แล้ว ที่กรมบัญชีกลางแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่อาจไม่ได้แจ้งทุกคน จนเรื่องมาแดงเพราะจะมีการฟ้องร้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน ส่วนผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนเงิน คาดว่ามีประมาณ 1.5 หมื่นคน เท่ากับว่าที่ผ่านมาเราจ่ายเงินถูกต้อง 99.99 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก .01 เปอร์เซ็นต์ที่มีปัญหา ก็ต้องแก้กันไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชุมกัน เอากฎหมายเป็นที่ตั้ง แก้ปัญหาให้บรรเทาเบาบางลง ไม่ให้ผู้สูงอายุเครียด ซึ่งเป็นนโยบายโดยตรงจาก นายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้แก้ปัญหาให้จบ

Advertisement

ด้าน นางสุทธินี เมธีประภา นายกสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฏหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สมาคมฯได้รับการประสานจากกรม ผส.แล้ว เบื้องต้นได้จัดทนายไว้ 9 คน เตรียมช่วยเหลือ ขณะนี้รอเพียงคำสั่งจาก รมว.พม.ว่าอยากให้สมาคมไปช่วยจุดไหนอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันต้องดูท่าทีของกระทรวงการคลังก่อน ว่าจะมีการแก้ไขกฎระเบียบอย่างไร หากรับข้อเสนอของอัยการที่เสนอให้ยกเลิกเรียกเงินคืน ก็ดีไป แต่หากยังต้องเรียกเก็บเงินคืน ก็ต้องไปดูสถานภาพผู้สูงอายุต่อว่าจะจ่ายคืนไหวหรือไม่ ช่วยประนีประนอมกับภาครัฐ ดูเป็นรายเคสไป

“คงต้องดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน ดูที่มาที่ไปเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อไหร่ นานแค่ไหน จริงๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องมาตรวจสอบตั้งแต่แรก ชาวบ้านเขาไม่รู้ คิดว่าก็เคยได้เงิน เลยคิดว่าตัวเองมีสิทธิตรงนี้ อย่างไรก็ตาม สมาคมยินดีให้ความร่วมมือ พม. และให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ สามารติดต่อขอคำปรึกษาและช่วยเหลือโดยตรงได้” นางสุทธินีกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image