ดีเอสไอสรุปผลสืบสวนคดี สกสค.ลงทุนโรงไฟฟ้า800ล้าน มีมูล ส่งป.ป.ช.รับไม้สอบ

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยความหน้าการตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนกับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ว่า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สืบสวนกรณีคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.) ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนกับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด จำนวน 800 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้สืบสวนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 พบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งการดำเนินการของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด มีมูลเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 อยู่ในอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการต่อไป และแจ้งเรื่องให้ ศอตช.สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อ

รายงานข่าวจากดีเอสไอแจ้งว่า ผลการสืบสวน สรุปดังนี้ 1.อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ใช้อำนาจยกเลิกระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.(ระเบียบเก่า) เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 และออกระเบียบใหม่ฉบับปี พ.ศ.2554 โดยมีการแก้ไขหลักการสำคัญเกี่ยวกับการบริหารกองทุนฯหลายประการ เช่น เดิมประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ คือ เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี แก้ไขใหม่เป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มาโดยการสรรหาตามหลักการและวิธีการคณะกรรมการ ช.พ.ค.กำหนด และให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 6 ปี นอกจากนั้นกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อให้อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และมีอำนาจสั่งการอนุมัติกองทุนฯ ได้ 2.การร่วมลงทุนกับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ในโครงการพลังงานไฟฟ้าขยะชุมชน มีข้อพิรุธ และพบข้อเท็จจริงหลายประการ กล่าวคือ

2.1 การเพิ่มทุนในบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด จากมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียน 1 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาท พบว่าเอกสารรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่แจ้งต่อนายทะเบียนพาณิชย์ นอกจากนั้นการซื้อขายหุ้นระหว่างกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค.ในนามสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.กับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด จำนวน 32 ล้านหุ้นๆละ 25 บาท รวม 800 ล้านบาท เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของบริษัทตามหนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ให้อำนาจให้บริษัทออกหุ้นที่มีมูลค่ามากกว่าที่ตราไว้ ดังนั้นเงินส่วนเกินจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ บริษัทจึงรับไว้ในฐานะลาภมิควรได้ ส่งผลทำให้สำนักคณะกรรมการ สกสค.ได้รับความเสียหายจากการจ่ายเงินค่าหุ้นเกินกว่าที่ตราไว้

2.2ในช่วงที่มีการซื้อขายหุ้นและเพิ่มทุนของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.บางคนได้รับผลประโยชน์จากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชี 2.3 การดำเนินการของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด เกี่ยวกับการดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน พบว่าการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าขนาด 3.5 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้แจ้งสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558 เนื่องจากไม่สามารถเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนกรณีที่ทางบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาด 4.9 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติหรือเริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด เป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้รับความเสียหาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image