แพทย์หวั่นโควิด-19 กลายพันธุ์ วัคซีน ตอบสนองลดลง จับตาใกล้ชิด-ยังไม่กระทบไทย

แพทย์หวั่นโควิด-19 กลายพันธุ์ วัคซีน ตอบสนองลดลง แต่ยังไม่กระทบไทย แค่จับตาใกล้ชิด

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะต้องฉีดวัคซีนทุกปีหรือไม่ แต่ในสหรัฐอเมริกาได้ปูพรมฉีดเข็มที่ 1 ให้ทุกคนมีโอกาสป้องกันโรค ซึ่งวัคซีนแต่ละบริษัทมีผลการป้องกันต่างกัน คือ โมเดิร์นนา ร้อยละ80 จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ70 และ ไฟเซอร์ ร้อยละ 50

เมื่อพร้อมก็จะฉีดเข็มที่ 2 จึงพบปัญหา คือ ขณะนี้มีเชื้อกลายพันธุ์ใน 3 ประเทศ คือ อังกฤษ บราซิล และแอฟริกาใต้ ทำให้วัคซีนที่มีการศึกษาวิจัย เช่น วัคซีนจอห์นสันฯ ที่ศึกษาในอเมริกาที่มีเชื้อกลายพันธุ์น้อยเมื่อเทียบกับ 3 ประเทศข้างต้น พบว่ามีประสิทธิภาพร้อยละ 72 แต่เมื่อไปศึกษาในแอฟริกาใต้ ได้เพียงร้อยละ 57 ในผลต่างร้อยละ 15 พบว่า ในระหว่างศึกษาในแอฟริกาใต้ มากกว่าร้อยละ 95 เป็นเชื้อกลายพันธุ์

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า เชื้อกลายพันธุ์กำลังก่อปัญหา อาจทำให้ผลการตอบสนองวัคซีนลดลง ขณะเดียวกัน การรายงานจากนาโนแวค ศึกษาในอังกฤษ มีประสิทธิภาพร้อยละ 90 แต่เมื่อศึกษาที่แอฟริกาใต้ ได้เพียงร้อยละ 60 ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่พบเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าว เนื่องจากเมื่อ 1 เดือนก่อน ที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษมากับครอบครัวชาวอังกฤษ แต่อยู่ในสถานที่กักกันจึงไม่ได้ออกมาสู่ด้านนอก

“จะเห็นว่าเชื้อกลายพันธุ์ในประเทศไทย เท่าที่ดูจากข้อมูลยังไม่ก่อปัญหา แต่อาจจะมีการก่อปัญหาในประเทศที่มีการระบาดหนักๆ ซึ่งในประเทศที่มีการปูพรมฉีดเข็มแรกให้ประชากรไปก่อนก็เพราะเหตุนี้ เพราะถ้าอีกระยะหนึ่งเจอเชื้อกลายพันธุ์อาจจะต้องเปลี่ยนการให้วัคซีนเข็ม 2 ใหม่ ซึ่งขณะนี้ทั้งไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา อยู่ระหว่างการนำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของคนที่ศึกษาวิจัย ไปทดสอบกับเชื้อในอเมริกาพบว่ายังสามารถจัดการได้” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า เนื่องจากการทดลองของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ทำในอังกฤษเป็นช่วงที่เชื้อยังไม่กลายพันธุ์ แต่ขณะนี้ทางแอสตร้าเซนเนก้า อยู่ระหว่างนำเลือดที่มีภูมิคุ้มกันของผู้ที่ร่วมการวิจัย มาจับกับเชื้อกลายพันธุ์ว่าจะมีประสิทธิภาพแตกต่างหรือไม่ ถ้าแตกต่างก็จะมีปัญหาได้ จึงต้องติดตามใกล้ชิด

เมื่อถามว่าถ้าเช่นนั้นประเทศไทยต้องปรับเรื่องการให้วัคซีนใหม่หรือไม่ เช่น กรณีที่จะผลิตในประเทศราว 26 ล้านโดสนั้น ต้องใช้เป็นเข็มแรกทั้งหมดหรือไม่

รศ.(พิศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า เรื่องนี้ทีมวิชาการได้เสนอไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแล้ว ในเรื่องของการปูพรมฉีดเข็มแรกไปก่อน อย่างไรก็ตาม เชื้อที่พบในประเทศไทยตอนนี้เป็นเชื้อที่มาจากเมียนมานานแล้ว ยังเป็นโครงสร้างเก่า เพราะฉะนั้นเชื้อดื้อต่อวัคซีน ยังไม่เป็นปัญหาต่อประเทศไทย

“ขณะนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 100 ล้านโดส ใน 2 กลุ่ม คือ 1.ขึ้นทะเบียนฉุกเฉินในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป อเมริกา มีอยู่ 3 บริษัท คือ ไฟเซอร์ โมเดิร์นนา และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนฉุกเฉินของแอสตร้าเซนเนก้า ไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม โดยยังยึดเรื่องความปลอดภัย และคุณภาพ 2.ประเทศที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินร่วมในงานวิจัย เช่น อินโดนีเซีย จีน บราซิล อินเดีย เป็นวัคซีนที่ผลิตและวิจัยในประเทศแถบเอเชีย ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการฉีดวัควีนระยะแรก คือ ลดการเจ็บป่วย ลดการเสียชีวิต ไปจนถึงลดการแพร่เชื้อหรือเมื่อป่วยแล้วไม่มีอาการรุนแรง”

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวและว่า หากไทยฉีดวัคซีนแล้วจะเห็นผลอย่างไร ก็มีข้อมูลล่าสุดจากประเทศอิสราเอล หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วร้อยละ 55 ของประชากร ปรากฏว่าผู้เจ็บป่วยลดลงร้อยละ 30 ดังนั้นหากประเทศไทยเริ่มฉีดจะเห็นผลในระดับนี้หรือไม่ ต้องย้อนกลับมาว่าแม้ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรมากกว่าเกือบ 10 เท่า แต่อัตราการติดเชื้อต่ำกว่ามาก ฉะนั้น การเห็นผลก็คงช้า เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อต่ำกว่าพันรายต่อวัน รวมถึงมีมาตรการอื่นป้องกันการติดเชื้อด้วย แต่ยังไงเราก็ต้องฉีดเพราะเมื่อไรที่เราเปิดช่องว่าง เชื้อไวรัสก็จะจู่โจมเรา

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวว่า เนื่องจากวัคซีนที่เป็นชีววัตถุ ดังนั้นเมื่อฉีดแล้วจะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวด บวม แดง ร้อน ในวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ก็พบว่ามีถึงร้อยละ 70 ขณะที่การฉีดน้ำเกลือก็เกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 50 โดยการฉีดเข็มที่ 1 จะมีผลข้างเคียงสูงกว่าเข็ม 2 แต่ผลข้างเคียงระดับนี้สามารถรับประทานยาและนอนพักอาการก็จะหายไป แต่หากเป็นผลข้างเคียงชนิดรุนแรงต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) มีไข้สูงหรืออาจจะมีผลกระทบต่อสมอง พบว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่มีผลข้างเคียงรุนแรง พบร้อยละ 0.7

ขณะที่กลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือพบร้อยละ 0.8 ซึ่งไม่แตกต่างกัน จะเห็นได้ว่ามีผลข้างเคียงแต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ทั้งนี้ หากเกิดการสูญเสียถึงแก่ชีวิตหรือพิการ หากพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นจากวัคซีน รัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเกิดขึ้นเฉพาะตัวเป็นรายบุคคล ในความเป็นจริงพบว่าผู้อายุต่ำกว่า 65 ปี เกิดผลข้างเคียงอาการปวด บวม แดงร้อนมากกว่าผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแต่ละบุคคล

“เท่าที่มีรายงานโอกาสเกิดผลข้างเคียงรุนแรงชนิดแอนาฟาแล็กติกช็อก (Anaphylatic shock) อาการช็อกที่ไม่รู้สึกตัวและล้มหลังจากฉีด พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์เจอ 11 ต่อ 1 ล้านโดส โมเดิร์นนาเจอ 3.7 ต่อ 1 ล้านโดส ส่วนในไข้หวัดใหญ่เจอแค่ 1 ต่อ 1 ล้านโดสเท่านั้น ดังนั้น วัคซีน 2 ชนิดนี้สูงกว่าแน่นอนและต้องเก็บข้อมูลต่อไป และที่น่าสนใจพบว่าการแพ้รุนแรง ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในผู้หญิง และร้อยละ 90-95 เกิดขึ้นใน 15 นาทีหลังการฉีด ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าหลังจากฉีดแล้วจะต้องให้อยู่ในหน่วยบริการอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อดูผลข้างเคียง” รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าว

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ เนื่องจากอยู่ในระยะของการเริ่มฉีด ขณะที่วัคซีนจากซิโนแวค ที่จะเข้าไทยเป็นตัวที่2 เทคโนโลยีเชื้อตายที่ใช้กันมานาน ทั้งไข้หวัดใหญ่ ไข้สมองอักเสบ โปลิโอ จึงทำให้ทราบว่ามีผลข้างเคียงต่ำ และยังไม่มีรายงานเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย จีน เมียนมา และหลายประเทศ ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้วประมาณ 5 ล้านโดส จึงต้องมีการขอข้อมูลส่วนนี้ให้กับประเทศไทยเพื่อขึ้นทะเบียนฉุกเฉินต่อไป

เมื่อถามว่าจะฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ก็พบว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเทคโนโลยีเชื้อเป็น ทางการแพทย์จะไม่ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ แต่สามารถฉีดในหญิงให้นมบุตรได้ ซึ่งต่างจากซิโนแวค เป็นเชื้อตายสามารถฉีดในหญิงตั้งครรภ์ได้แต่ยังไม่มีการทดลองในเรื่องนี้ จึงไม่แนะนำให้ฉีด

และคำถามว่าหากเป็นโรคภูมิแพ้จะฉีดได้หรือไม่ พบว่า สหรัฐอเมริกาให้พิจารณาผลดีและผลเสียของวัคซีนไฟเซอร์กับโมเดิร์นนา และชั่งน้ำหนักว่าจะฉีดหรือไม่ แต่สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า ยังไม่มีข้อมูลว่า ฉีดไปแล้วมีปัญหาในผู้มีโรคภูมิแพ้ แต่จะไม่ได้แปลว่าไม่มี จะต้องการเก็บข้อมูลต่อไป ส่วนซิโนแวค วัคซีนเชื้อตายที่ได้รับการยอมรับด้านความปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image