กรมสุขภาพจิตเผยปี’63 ฆ่าตัวตายพุ่ง 7.3 ต่อแสนประชากร เหตุหลักปัญหาครอบครัว-ศก.

กรมสุขภาพจิตเผยปี’63 ฆ่าตัวตายพุ่ง 7.3 ต่อแสนประชากร เหตุหลักปัญหาครอบครัว-ศก.

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงการเช็กอินหัวใจในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ระบาดของโควิดปีที่ 2 ทำให้เกิดความเครียดขึ้นลงตามสถานการณ์ เช่น ปี 2563 เดือนมีนาคม มีความเครียดสูงถึงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตที่มีความเครียดอยู่แล้วประมาณร้อยละ 3-4 แต่หลังจากนั้นค่อยๆ ลดลงมาจนถึงปลายเดือนธันวาคม ต่อมาถึง เดือนมกราคม 2564 ความเครียดกลับขึ้นมาอีกครั้ง แต่ว่าการระบาดรอบใหม่มีความตระหนก เนื่องจากเราคุ้นเคยกับตัวเลขที่ศูนย์ราย

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า หากจำแนกตามพื้นที่ คือ จังหวัดสีแดงเข้ม สีแดง ส้ม เหลือง เขียวและขาว โดยพื้นที่มีความตระหนกสูงจะอยู่ในจังหวัดสีส้ม เพราะกลัวควบคุมไม่อยู่ และพื้นที่จังหวัดสีแดงมีความกังวลว่าจะติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ทุกคนผ่านมาตรการปี 2563 แล้ว จึงเริ่มกังวลว่าหากโรคระบาดขึ้นอีกก็จะมีมาตรการหลายอย่างขึ้นมากระทบชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน โอกาสทางเศรษฐกิจ จึงเกิดความเครียดมากขึ้น แต่ตอนนี้เรามีวัคซีนส่วนตัว คือ การป้องกันตนเอง ลดความเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุดก็จะลดความกังวล กลัวการติดเชื้อได้

“กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพจิต คือ 1.ผู้ติดเชื้อและญาติ เพราะกลัวถูกตีตรา 2.ผู้ที่อยู่ในสถานกักกันโรคหรือกักตัวระหว่างรอผลตรวจ จึงเป็น 2 กลุ่มที่ระบบสาธารณสุขเข้าไปดูแลสุขภาพจิตอยู่แล้ว พบว่า ใน 2 วันแรกจะเครียดที่สุด เพราะกังวลว่าจะติดเชื้อ สัปดาห์แรกผ่านไปอย่างเชื่องช้า และสัปดาห์ที่ 2 จะเครียดมากขึ้น เพราะอยู่กับที่เฉยๆ ไปไหนไม่ได้ จึงแนะนำให้ทำตารางว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กลุ่มผู้ที่เริ่มเครียดบ้างเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกิดการป้องกันตนเอง แต่หากเครียดมากเกินไป จะทำให้ความคิดหมกหมุ่นเสพข่าวมากขึ้นทั้งจริงและไม่จริง หรืออาจจะโต้เถียงกับคนรอบข้างในเรื่องนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตรวจเช็กสุขภาพใจด้วย Mental Health Check In เพื่อสำรวจตนเองว่ามีความเครียดอย่างไร หากมีข่าวสารที่เข้ามามาก ก็ให้ลดจำนวนชั่วโมงลงบ้าง หากิจกรรมอื่นทำ เปิดตัวเองรับการพูดคุยกับคนอื่นๆ เพราะการที่อยู่กับตัวเอง ความคิดของตัวเรา ก็อาจมองไม่เห็นทางที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ หากเรามีวัคซีนใจที่ดีไปดูแลคนรอบข้างด้วย ก็จะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้

Advertisement

นอกจากนี้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของคนไทยคงที่ อยู่ที่ 6 ต่อแสนประชากร แต่ในปี 2563 พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไต่ระดับขึ้น โดยเมื่อนำใบมรณะบัตรที่ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเป็นฆ่าตัวตาย พบว่าอยู่ที่ 7.3 ต่อแสนประชากร ส่วนภาวะอ่อนล้าทางอารมณ์หรือภาวะหมดไฟในคนทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 6 แต่ในกลุ่มเปราะบางคือ คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว คนที่ต้องกักกันตัว และญาติ จะอยู่ที่ร้อยละ 19 นอกจากนี้ พบว่า การโทรปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ปัญหาความเครียดส่วนใหญ่เกี่ยวกับโควิด-19 ช่วงเดือนมกราคม จำนวน 1.8 แสนคน จากที่ในปี 2563 ทั้งปีมีการโทรปรึกษาอยู่ที่ราว 7 แสนคน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายที่ไต่ระดับขึ้นในปี 2563 เกิดจากสาเหตุใด พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า เหตุปัจจัยยังคงเรียงลำดับ 3 กลุ่ม ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา คือ 1.ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล กับคนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัว ยังเป็นเหตุปัจจัยส่วนใหญ่ 2.ภาวะเจ็บป่วยทางกายเรื้อรัง หรือมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้าอยู่เดิมแล้ว และ 3.ผลกระทบจากภาวะเครียดเรื่องเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่น่าสังเกตว่าในช่วงปี 2563 กลุ่มที่ 3 ที่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มที่ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า ระบุได้หรือไม่ว่าสถานการณ์โควิด-19 มีผลต่อการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ไม่ได้ เนื่องจากเวลาเกิดเหตุปัจจัยในการฆ่าตัวตายมาจากหลายเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล เพียงแต่ในปี 2563 มีการไต่ระดับขึ้นของการฆ่าตัวตาย จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวัง เพราะว่าโดยทั่วไปเวลาอยู่ในสถานการณ์ที่มีภาวะวิกฤติ ก็มีความเสี่ยงต่อกลุ่มที่เดิมมีความเสี่ยงเดิมๆ อยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นเปราะบางมากขึ้น จึงเป็นมาตรการที่จะต้องเตรียมในการเฝ้าระวังดูแล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image