วัคซีนโควิด เดือนนี้ มาแน่ ปักเข็มแรกจาก ซิโนแวค พท.เสี่ยง บุคลากร-โรคประจำตัว-แรงงานต่างด้าว ฉีดก่อน

วัคซีนโควิด เดือนนี้ มาแน่ ปักเข็มแรกจาก ซิโนแวค พื้นที่เสี่ยง บุคลากร-ปชช.มีโรคประจำตัว-แรงงานต่างด้าว

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2634

นายอนุทิน กล่าวว่า ประเทศไทยยืนยันคำสั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส ตามข้อตกลงที่เขาเสนอมา คือ จะส่งเข้ามาในประเทศไทยกรอบเวลา เดือน ก.พ. จำนวน 2 แสนโดส เดือน มี.ค. 8 แสนโดส และเดือน เม.ย. อีก 1 ล้านโดส โดยล็อตแรกจะส่งเข้ามาภายใน ก.พ. ดังนั้นต้องเชื่อถือหลักการค้า ที่มีการสั่งซื้อ กำหนดเงื่อนไขจัดส่ง มีการเจรจาต่อรองจนเป็นที่ยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย

นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล คือ ฉีดให้กับคนในประเทศไทย รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่มีความเสี่ยง ทำงานในประเทศอย่างภูกกฎหมาย การฉีดเฉพาะคนไทย แต่ไม่ฉีดคนอื่นที่มีความเสี่ยง จะไม่มีประโยชน์ ส่วนค่าใช้จ่ายจะต้องหารือร่วมกระทรวงแรงงานและนายจ้างต่อไป เนื่องจากแรงงานจะมีประกันต่างๆ ซึ่งต้องไปหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด แต่ต้องคิดถึงความปลอดภัยของคนไทยเป็นสิ่งแรก

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ส่วนวัคซีนสปุตนิก ประเทศรัสเซีย หากเข้ามาก็ยินดี ตอนแรกไม่มีใครมา แต่เมื่อเราสั่งไปจำนวนหนึ่งก็เริ่มเข้ามา สัปดาห์ที่แล้วก็มีจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ โมเดิร์นน่า ติดต่อเข้ามา เพียงแต่เราไม่สามารถรับเงื่อนไขบางอย่างได้ เช่น หากจะให้มาก็จะต้องตกลงซื้อก่อนหลายสิบล้านโดส ซึ่งเราตกลงไม่ได้ แต่เราไม่ปิดกั้นใคร นอกจากนี้ยังพยายามที่จะแนวโน้มให้เขามาจดทะเบียนให้มากที่สุด เพื่อให้มีข้อมูลมากที่สุด รวมถึงกระจายให้ภาคเอกชน เพราะวัคซีนไม่ได้อยู่ตลอด โควิดยังเป็นโรคที่ต้องมีวัคซีน คนที่มีความสามารถดูแลตนเองได้ก็จะไปที่โรงพยาบาลเอกชน ก็เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ ขณะที่วัคซีนจากจอห์นสันแอนด์จอหน์สัน ทุกอย่างดีหมด อยู่ภายใต้เกณฑ์ที่เรารับได้หมด แต่จัดส่งให้ราได้ในปลายไตรมาส 3 ซึ่งขณะนั้นก็จะซ้ำกับที่เรามีจากแอสตราเซเนกา แต่เรายังมีเวลาคอนเฟิร์มอยู่ ซึ่งเขาเตรียมไว้ให้เรา 5 ล้านโดส

Advertisement

นพ.เกียรติภูมิ กล่าว่า วัคซีนซิโนแวคได้ขึ้นทะเบียนในประเทศจีนแล้ว ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการขึ้นทะเบียนในไทยโดยเป็นการทยอยส่งเอกสาร เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะพิจารณาอนุมัติต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการกระจายวัคซีน ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอ แผนแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะต้น ที่จะได้วัคซีนจากซิโนแวค จำนวน 2 ล้านโดส เร่งฉีดให้ครบภายใน 2-3 เดือน เริ่มในเป้าหมายเชิงพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อเน้นการควบคุมของโรคเป็นสิ่งสำคัญ ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ สมุทรสาคร พื้นที่ควบคุมสูงสุด คือ กทม. และปริมณฑล พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่องและระบาดในช่วงที่ผ่านมา เช่น ตาก ชลบุรี จังหวัดทางภาคตะวันออก ทั้งนี้ จะฉีดใน 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และ กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี รวมถึงแรงงาน ผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม วัคซีนจำนวน 2 แสนโดสจะกระจายไปก่อนทุกคนในเข็มแรก เมื่อล็อตที่ 2 เข้ามาอีก 8 แสนโดส ก็จะฉีดต่อเนื่องกันเพื่อครอบคลุมให้ได้มากที่สุด

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมในระยะที่ 2 คือวัคซีนจากแอสตราเซเนกา จำนวน 61 ล้านโดส จะเร่งรัดฉีดให้เสร็จสิ้นภายใน 4 เดือน ซึ่งมีการกำหนดแผนฉีด 5 ล้านคนต่อเดือน และจากนั้นเพิ่มเป็น 10 คนต่อเดือน หากดำเนินการฉีดได้ทุกวันก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพื่อควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว

Advertisement

ด้าน นพ.นคร กล่าวว่า วัคซีนจากแอสตราเซเนกา มีกำหนดการส่งมอบวัคซีนในเดือนมิ.ย. แต่เราขอให้จัดหาวัคซีนให้เราในช่วงต้น แต่ติดปัญหาเรื่องการขนส่ง เราก็มีความพยายามในหาจัดหา แต่ต้องขอเวลาทำงานอีกซักพัก กรอบเวลาที่จะส่งใน ก.พ. ก็เร่งดำเนินการจัดหาอยู่ แต่จะได้เมื่อไหร่ก็จะแจ้งรายละเอียดให้ทราบ ทั้งวัน เวลาและจำนวน เพราะประเด็นของวัคซีนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นการจัดหาวัคซีนในภาวะเร่งด่วนจะต้องใช้เวลา

เมื่อถามว่าวัคซีนที่จะเข้ามาล็อตแรกของซิโนแวค ผู้บริหารสธ. จะฉีดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จะต้องแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ หากฉีดแล้วประชาชนมีความเชื่อมั่น ก็จะฉีด แต่หากฉีดแล้วแต่เป็นการไปแย่งประชาชน ก็ไม่ควรฉีด ดังนั้นจะต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

ถามต่อว่าการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์ มากน้อยอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจ จ.สมุทรสาคร บุคลากรมีความต้องการฉีดถึงร้อยละ 90 ซึ่งทำให้เห็นว่าแพทย์มีความมั่นใจและกล้าฉีดวัคซีน
////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image