ยธ.เยียวยา”ผู้ถูกละเมิดสิทธิ-แพะ”อุดช่องโหว่ “ติดคุกฟรี-ติดคุกเกิน”

“หยุดติดคุกฟรี” เป็นแคมเปญใหม่ ที่กระทรวงยุติธรรม กำลังหยิบยกขึ้นมาโปรโมต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือประชาชน การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ขณะที่ “การเยียวยาประชาชน” ไม่ใช่เรื่องใหม่ของกระทรวงยุติธรรม เพราะเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544

โดยหลักเกณฑ์ระบุว่า ต้องเป็นผู้เสียหายหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น และต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

หรือกรณีเป็นจำเลยในคดีอาญา และต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง สามารถมายื่นเรื่องเพื่อขอเงินชดเชย ช่วงที่ถูกคุมขังในเรือนจำ ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาลได้

Advertisement

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การช่วยเหลือเยียวยาก็ยังไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกคน ยังติดขัดข้อกฎหมาย

กระทั่งเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชนในกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาอีก 1 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงระเบียบฉบับหนึ่ง ใน พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ ที่สนับสนุนเงินช่วยเหลือกับประชาชน เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เช่น ประกันตัว ค่าธรรมเนียมศาล

ต่อมามีข้อเสนอแนะและแนวคิดว่า ไปถึงกลุ่มที่ยังไม่ได้เป็นจำเลย หรือฟ้องคดี แต่ถูกจับกุมไว้ในเรือนจำเพื่อรอการทำสำนวนของพนักงานสอบสวน หรือที่เรียกว่า “ฝากขัง”

Advertisement

ก่อนนำตัวส่งอัยการเพื่อฟ้องต่อศาล หากสุดท้ายแล้ว อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี แล้วช่วงเวลาที่สูญเสียอิสรภาพ รัฐจะเยียวยาอย่างไร เพราะคนกลุ่นนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ เพราะไม่ได้เป็นจำเลย

“บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม จึงเห็นว่า พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมฉบับนี้ สามารถช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมและมีมติเห็นชอบ ให้ออกประกาศคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม เรื่อง อัตราเงินช่วยเหลือ ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. ….

เรื่องนี้ รองปลัดยุติธรรม ธวัชชัย ไทยเขียว อธิบายขยายความว่า เนื่องจากกรณีผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวน หรือจำเลยที่ถูกควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ภายหลังพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษาจำคุกที่มีระยะเวลาน้อยกว่าเวลาควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีแล้วแต่กรณี ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนในฐานะผู้เสียหายหรือจำเลยในคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงทำให้คนเหล่านั้นเสียสิทธิ “ติดคุกฟรี”

“ปัจจุบันรัฐบาลได้ตรา พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.2559 มาตรา 9 (3) กำหนดให้เงินกองทุนยุติธรรม จ่ายเพื่อการช่วยเหลือ ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ด้วยการออกเป็นระเบียบคณะกรรมการกองทุน ยุติธรรมว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงิน ของกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2559 ข้อ 7 (3) ให้สามารถจ่ายเงินกองทุนในการช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดได้ โดยให้ไปออกเป็นประกาศคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม เรื่อง อัตราเงินช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พ.ศ. …. เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว” ธวัชชัยกล่าว

ดังนั้น ต่อไปนี้ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวน หรือจำเลยที่ถูกควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ที่ภายหลังพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษาจำคุกที่มีระยะเวลาน้อยกว่าเวลาควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีแล้วแต่กรณี จะได้รับเงินในอัตราเช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544

ส่วนหลักเกณฑ์ของ “ผู้ขอรับความช่วยเหลือ” ตามประกาศนั้น หมายความว่า ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความเสียหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนถึงแก่ความตายตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้

ลักษณะแบบไหนที่เรียกว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” นั้น ตามร่างประกาศระบุว่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชน” หมายความว่า การทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ เสรีภาพ ในราชอาณาจักรไม่ว่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด หรือกรณีอื่นที่คณะกรรมการเห็นสมควร

ลักษณะดังกล่าว คือ ผู้ถูกกล่าวหาถูกควบคุมตัวระหว่างสอบสวน และต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี หรือเป็นจำเลยที่ถูกควบคุมตัวในระหว่างพิจารณาคดี ต่อมาศาลพิพากษา

จำคุก โดยมีระยะเวลาน้อยกว่าเวลาควบคุมตัว ระหว่างพิจารณาคดี เข้าหลักเกณฑ์ รับเงินเยียวยา ช่วยเหลือตามประกาศ เนื่องจากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อจิตใจ เสรีภาพ

หากไม่มีประกาศกองทุนยุติธรรม ฉบับนี้คนกลุ่มนี้จะไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ หรือเรียกว่า “ติดคุกฟรี”

สำหรับการเยียวยา ผู้ถูกละเมิดสิทธิ นั้น ยึดหลักเกณฑ์เดียวกับการเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ คือ 1.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 40,000 บาท 2.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท 3.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ จ่ายตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำในท้องที่ประกอบการ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4.เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีถูกละเมิดจนถึงแก่ความตาย ให้ช่วยเหลือได้ไม่เกิน 100,000 บาท และ 5.เงินช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายอื่นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนขั้นตอนการพิจารณานั้น ธวัชชัยบอกว่า เมื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้อง หลังจากเจ้าหน้าที่รับคำขอแล้วตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น เสนอคณะอนุกรรมการเงินช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้ได้รับผลกระทบ จากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทราบกรณีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หรือพิจารณากรณีที่มีประเด็นข้อกฎหมาย ตอนนี้มีผู้ยื่นเรื่องคำขอรอการพิจารณาอยู่ 11 ราย

พล.อ.ไพบูลย์บอกว่า ประกาศคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม เรื่อง อัตราเงินช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

เป็นสิ่งใหม่ ที่กระทรวงยุติธรรมไม่เคยทำมาก่อน จึงอยากเรียนพี่น้องประชาชนให้เข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างๆ เช่น กรณีบางคนถูกขังเกินกำหนด เพราะศาลพิพากษาตัดสินน้อยกว่าวันที่ถูกคุมขัง เช่นนี้ต้องได้รับการดูแล สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้

สำหรับประกาศคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมนี้ อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะมีผลบังคับใช้ทันที

นี่เป็นอีกผลงานหนึ่งของ “บิ๊กต๊อก” ที่พยายามลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำ ในระบบงานยุติธรรม สร้างความเท่าเทียมกับผู้ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image