เหยี่ยวถลาลม : ผู้มีอิทธิพลกับอันธพาล

“อันธพาล” เป็นคำที่ชวนให้รู้สึกได้ว่า ถ้าเป็นคนก็เขลาเบาปัญญา ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ถ้าเป็นการกระทำก็หมายถึงพฤติการณ์กร่าง ท่วงท่าระรานต่างกับ “ผู้มีอิทธิพล” ที่ให้ความรู้สึกลึกกว่า มีพวกพ้องบริวารเป็นปึกแผ่น มีแบบแผนในการกระทำซับซ้อนมากกว่า

ถ้าผู้มีอิทธิพลเป็น “คนในเครื่องแบบ” ด้วยแล้วจะยิ่งสามารถ “ก่อการใหญ่” ได้ เช่น คุมเขตการค้าของคนกลางคืน อยู่เบื้องหลังธุรกิจผิดกฎหมายทั้งใต้ดิน บนบก และน่านน้ำ

บ่อยครั้งที่คนพวกนี้หลงในผลงาน เข้าใจไปว่าตัวเองมีความสามารถ ฉลาด มีวิสัยทัศน์ ทั้งที่ความจริงคือ ผลของงานเกิดจาก “บริวาร” และ “ปืน”

ในประเทศที่ยังล้าหลังป่าเถื่อนชอบนิยมยกย่อง “คน” กับ “ปืน” มากกว่า “กติกา” หรือ “กฎหมาย” ไม่เคารพกันในคุณความดี ไม่มีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียม แต่จะเคารพยำเกรงก้มหัวให้อำนาจ อิทธิพล ตามลำดับชั้น

Advertisement

ทั้งที่ “พฤติการณ์” ทั้งหลายคือความล้าหลัง ป่าเถื่อน นำภัยพิบัติ ก่อความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมแต่ก็ยังยอมรับให้ “ผู้มีอิทธิพล” เป็น “ผู้นำ”

“กฎหมาย” มีไว้ใช้บังคับกับคนที่ไม่มีฤทธิ์

“เหตุผล” เก็บเอาไว้พูดกันทีหลัง

Advertisement

“ไสยศาสตร์” นำหน้า “วิทยาศาสตร์” ตามหลัง

นั่นคือโลกในความเป็นจริงที่สามารถเปรียบได้กับ “พื้นที่ทางการเมือง” ที่ยังคงมีการรัฐประหาร

ผู้นำในกองทัพที่นำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์กับกำลังพลรบออกมา “ก่อรัฐประหาร” คือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ทางการเมือง

ไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างอันใดเหตุเงื่อนไขใด “รัฐประหาร” ก็ถูกนับเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ป่าเถื่อน

ยิ่งถ้ามีการสมคบคิดกับองค์กรหรือกลไกอื่นใดเพื่ออวดอ้างสร้าง “ความชอบ” ให้กับการได้มาและการรักษา “อำนาจ” รัฐประหารนั้นก็ยิ่งชัดว่า “ระบบถ่วงดุลอำนาจ” ใน “นิติรัฐ”
นั้นได้พังทลายลงสิ้น

ทั้งรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และรัฐบาลที่เกิดจาก “การลอกครอบ” ของคณะรัฐประหาร จึงไม่อาจจะเป็น “นิติรัฐ” ได้

เปรียบเหมือนกับสังคมเล็กๆ ในชุมชนที่ผู้คนทั่วไปมักเกรงกลัว “ผู้มีอิทธิพล” ใช้จ้างวานนักเลงอันธพาลไปเกะกะระรานข่มขู่คุกคามและทำร้าย

นักเลงอันธพาลกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเป็นอย่างไร นักเลงอันธพาลและผู้มีอิทธิพลระดับชาติก็เป็นอย่างนั้น

ต่างกันที่ผู้มีอิทธิพลระดับชาติใช้ทรัพยากรของชาติเป็นกำลัง !?!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image