จนท.กรมอุทยาน จับเสือที่หนีจากห้วยขาแข้ง ทำร้ายสัตว์ชาวบ้าน ปล่อยคืนสู่ป่าได้แล้ว

จนท.กรมอุทยาน จับเสือที่หนีจากห้วยขาแข้ง ทำร้ายสัตว์ชาวบ้าน ปล่อยคืนสู่ป่าได้แล้ว

ตามที่มีเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว ออกมาจากป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 มาสร้างความเดือนร้อน และทำร้ายสัตว์เลี้ยง เช่น วัว แพะ เป็ด ของชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุดเมื่อเวลา 03.00 น. ของคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เสือโคร่งตัวนี้ ได้เข้ามาทำร้ายวัวของชาวบ้านตายไป 2 ตัว และบาดเจ็บ 1 ตัว สร้างความเดือนร้อน กังวล ให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ในพื้นที่ และราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 กุมภาพันธ์ นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้เป็นผู้แทน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนเข้มข้น ในการเฝ้าระวัง และผลักดันเสือกลับป่า รวมทั้งเตรียมปืนยิงยาสลบไว้ 4 ชุด พร้อมจะจับเสือโคร่งกลับคืนป่าให้ได้

Advertisement

จนเวลา 09.00 น. ได้ประชุมร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนสมาชิกสภาราษฎรในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เพื่อหาทางเฝ้าระวัง โดยแจ้งในที่ประชุมว่า คืนนี้ จะจัดชุดเจ้าหน้าที่อุทยาน มาเฝ้าคอกสัตว์เลี้ยง ที่มีอยู่กระจายอยู่ทั่วไป จำนวน 25 คอก คอกละ 3 คน เพื่อไม่ให้เสือเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยงอีกต่อไป

ในขณะที่ ชุดติดตามเสือโคร่ง นำโดย นางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ และเจ้าหน้าที่ ได้เดินแกะรอยเสือ อย่างต่อเนื่อง จนพบว่า เสือมาหลบร้อน ซ่อนตัวอยู่ในท่อระบายน้ำข้ามถนน ณ จุดใกล้กับสถานีไฟป่าห้วยขาแข้ง จึงได้จัดชุดซุ่มดักยิงยาสลบ ทั้ง 2 ข้าง แต่เสือโคร่งไม่ยอมออกมา จึงได้ใช้ฟางจุดสุมไฟ เพื่อให้ควันไฟไล่ให้เสือออกมา ก็เป็นไปตามคาด เจ้าหน้าที่ซึ่งเตรียมปืนดักยิงที่มีลูกดอกยาสลบอยู่แล้ว ได้ลงมือปฎิบัติยิงทันที ที่เสือหนีควันไฟออกมา ลูกดอกถูกตรงตามเป้า เสือโคร่งวิ่งหนีเข้าป่าไป แต่เจ้าหน้าที่มั่นใจว่า อีกราว 15 นาที เสือตัวนี้น่าจะต้องหมดแรงและสลบ ดังนั้นเมื่อครบ 15 นาที จึงเดินตามเข้าไป ก็พบเสือนอนสลบอยู่ ตามคาด ห่างจากจุดที่ยิงลูกดอกยาสลบ ประมาณ 500 เมตร

จากนั้น นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมทีมสัตวแพทย์ ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสัตวบาล ช่วยกันพยาบาล สร้างความอบอุ่น พัดลมระบายอากาศ และฉีดยาบำรุง พร้อมทำแผลให้กับเสือ

Advertisement

พบว่า เสือตัวนี้ เป็นตัวผู้ น้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม มีพื้นที่หากินราว 200 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม พื้นที่ป่าเวิ้งที่ทำการเขตฯห้วยขาแข้ง ตีนเขานางรำ แต่ข้อการวิจัยล่าสุด ได้รู้ว่า มีเสือโคร่งตัวผู้ที่กำยำและหนุ่มกว่า เข้ามาช่วงชิงพื้นที่หากิน ทั้งทางด้านใต้และด้านเหนือ เป็นเหตุให้ มันต้องหาแหล่งหากินใหม่ ซึ่ง พื้นที่ที่ค้นพบครั้งนี้ แม้เป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ แต่เป็นที่ชุมชน จึงเป็นให้กรมอุทยานต้องผลักดันกลับสู่ป่า

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำการติดปลอกคอติดตามตัว เพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวของเสือตัวนี้ในอนาคตเป็นรายนาที ว่า ขณะนี้ อยู่ ณ จุดใด ถ้าออกมาจากป่าอีก เจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าจัดการได้ง่าย เจ้าหน้าที่ได้นำเสือเข้ากรง ขนย้ายไปปล่อยกลางป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อน รำคาญ ให้กับราษฎรอีกต่อไป

ในส่วนของซากวัว ที่เสือล่าไว้ 2 ตัว เมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ได้นำติดรถไปด้วย 1 ตัว เพื่อให้เสือได้กินเป็นอาหาร ตามที่เขาตั้งใจล่าไว้

ในส่วนของ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการกำชับมาเมื่อเช้านี้ ให้เจ้าหน้าที่มีความระมัดระวังในการปฎิบัติ เน้นให้ทั้งเสือและคนปลอดภัย และสั่งให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เข้าไปหารือพูดคุยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ในการเยียวยาให้กับราษฎรเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่โดนเสือทำร้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image