ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ชงมาตรการคุมไข้ซิกา สั่งเฝ้าระวังเด็กหัวลีบ-คัดกรองผู้ป่วยระบบประสาท

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ แถลงข่าวภายหลังการประชุมมีการประชุมคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ ฯ ครั้งที่ 2/2559 มีผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาระดับประเทศหลายคนเข้าร่วมประชุมว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศว่าการเกิดกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด และผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบประสาท ที่มีรายงานจากประเทศบราซิล อาจสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิกา ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีการพิจารณาหาแนวทางในการเตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวังและควบคุมโรค โดยแบ่งออกเป็น 1. การดูแลรักษาอาการของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในรายผู้ป่วยทั่วไป โดยขอให้ผู้เชี่ยวชาญทางกรมการแพทย์ จัดทำร่างคำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองผู้ป่วยว่า เข้าข่ายโรคซิกาหรือไม่ จากนั้นได้ประสานกับห้องปฏิบัติการต่างๆ เพื่อรองรับการตรวจหาเชื้อด้วย 2. ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่ทารกแรกเกิดอาจมีภาวะศีรษะลีบแบนนั้น ที่ประชุมได้ขอให้ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และกุมารแพทย์ต่างๆ ในการเฝ้าระวังและดูอุบัติการณ์การเกิดภาวะศีรษะลีบในเด็กเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด

นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในกรณีหญิงตั้งครรภ์ที่เข้าข่ายสงสัยซิกา อาจพิจารณาให้มีการตรวจหาเชื้อซิกาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังให้มีการรณรงค์เพื่อควบคุมยุงลาย โดยขอให้ดำเนินการเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ กรมควบคุมโรคจะเริ่มมีกิจกรรมรณรงค์เรื่องนี้อย่างเข้มข้นต่อไป และ3. ขอให้เน้นการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มอาการที่เข้าข่ายซิกา แต่ก็ยังเป็นกลุ่มอาการของโรคอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินแนวโน้มการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง เพราะประเทศยังพบผู้ป่วยจำนวนน้อย แต่ก็ต้องไม่ประมาทต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง

“สำหรับประเทศไทย โรคซิกายังไม่น่ากลัวเท่าไข้เลือดออก เพราะซิกาผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ยกเว้นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีภาวะแทรกซ้อนเรื่องระบบประสาทเท่านั้น ซึ่งทั่วโลกมีรายงานผู้เสียชีวิตน้อยมาก ขณะที่ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ขณะที่ไข้เลือดออกมีความรุนแรงสูงกว่า อย่างในปี 2558 มีผู้ป่วยประมาณ 1.4 แสนคน และเสียชีวิตกว่า 100 ราย และปี 2559 คาดว่าจะผู้ป่วยไข้เลือดออก 1.6-1.7แสนคน นอกจากนี้ ในเรื่องการติดเชื้อไวรัสซิกาทางเพศสัมพันธ์นั้น ถือว่าน้อยมาก หลักๆ อยู่ที่ยุงลาย เป็นพาหะสำคัญ” นพ.ประเสริฐกล่าว

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีข้อมูลยืนยันว่า อาการทางประสาทจะเกิดที่เด็ก หรือผู้ใหญ่ แต่เป็นกลุ่มอาการที่เข้าข่ายโรคซิกา จึงมีการประสานไปทางสมาคมประสาทวิทยา และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเส้นประสาทอักเสบว่า เกิดจากการติดเชื้อ หรือภูมิคุ้มกันแปรปรวน ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยที่มีอาการเส้นประสาทอักเสบจากภาวะจากภูมิคุ้มกันแปรปรวน ทำให้แขนขาอ่อนแรง รองลงมาเกิดจากการติดเชื้อไข้เลือดออกเดงกี ซึ่งพบร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ ยังพบมาจากการขาดวิตามินบี 1 ก็มีส่วนทำให้เกิดอาการทางประสาทได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยพบว่าติดจากเชื้อซิกา จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากสาเหตุของการเกิดอาการเส้นประสาทอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ แต่ละสาเหตุจะรักษาแตกต่างกัน

Advertisement

“อย่างสาเหตุที่มาจากภูมิต้านทานแปรปรวนนั้น การรักษาก็จะเป็นการให้สารสกัดจากน้ำเหลือง แต่หากเกิดจากการติดเชื้อก็จะรักษาอีกแบบ หรือแม้กระทั่งหากเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 ก็เช่นกัน ดังนั้น จุดนี้จึงค่อนข้างยากในการวินิจฉัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแนวทางการวินิจฉัยกลุ่มอาการดังกล่าวด้วย เบื้องต้นสิ่งสำคัญหากพบอาการทางระบบประสาทอักเสบ ร่วมกับอาการอื่นๆ ที่เข้าข่ายซิกา ทั้งมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อ มีผื่นขึ้น ตาแดง ให้สงสัยว่าเข้าข่ายเกิดโรคดังกล่าว และรีบเข้าสู่ระบบการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดทางห้องปฏิบัติการทันที” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image