ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ยัน ‘แอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค’ ปลอดภัย ผ่านเกณฑ์องค์การอนามัยโลก

สถาบันวัคซีนแห่งชาติเผยวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาในระยะแรก ทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค มีผลการศึกษาด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากล ผ่านข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก หลังการใช้ในวงกว้างไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผยวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศไทยจัดหาในระยะแรก 2 ชนิด ทั้งจากแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยกระบวนการที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด มีผลการศึกษาในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามหลักการสากล ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ทั้งสองผ่านเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานควบคุมกำกับในหลายประเทศทั่วโลก ล่าสุดวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการรับรอง Emergency Use Listing (EUL) จากองค์การอนามัยโลกแล้วเช่นเดียวกับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

โดยวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ปัจจุบันมียอดจองสูงสุดกว่า 2,700 ล้านโดส ได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินใน 43 ประเทศทั่วโลก และเป็นวัคซีนส่วนใหญ่ที่ COVAX Facility จะกระจายให้กับกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ ภายหลังการใช้วัคซีนในวงกว้าง ยังไม่พบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ที่รุนแรง นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกเพื่อออกคำแนะนำการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ไม่ได้ห้ามใช้วัคซีนในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ระบุว่ากลุ่มทดสอบอายุ 65 ปีขึ้นไป ยังมีจำนวนน้อย และพบการใช้วัคซีนมีประสิทธิผลในการลดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ โดยแนะนำให้มีระยะห่างของการฉีดที่ 8-12 สัปดาห์ จะได้ประสิทธิภาพของวัคซีนดีที่สุด

สำหรับวัคซีนของซิโนแวค ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อสูง พบลดอาการป่วยที่รุนแรง ส่วนการระงับการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ที่บราซิลตามที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน จึงมีการอนุมัติให้ทดสอบวัคซีนต่อได้ ทั้งนี้ วัคซีนซิโนแวคได้รับการอนุมัติทะเบียนจากประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในอาเซอร์ไบจาน บราซิล ชิลี โคลัมเบีย อินโดนีเซีย ลาว เม็กซิโก ตุรกี และอุรุกวัย

Advertisement

ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านโดส โดยฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก ส่วนอินโดนีเซียได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนในผู้สูงอายุ และจากการใช้วัคซีนในวงกว้างยังไม่พบรายงานอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงเช่นกัน

ในส่วนของประเทศไทย ได้วางแผนการให้วัคซีนโควิด-19 กับประชากรกลุ่มเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน บุคลลที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ 1.ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต 2.เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจากการทำงาน และ 3.เพื่อให้คนไทยกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติและเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

“การจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทยยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะขยายการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกับประชาชนทุกคนที่ต้องการฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงเจรจากับ COVAX Facility เป็นระยะ และหากบรรลุเงื่อนไข ข้อเสนอที่ประเทศจะได้ประโยชน์ ก็อาจมีการทำข้อตกลงผ่านวัดหาวัคซีนผ่าน COVAX Facility ได้” นพ.นครกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image