แพทย์ยันพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ยึดความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ

แพทย์ยันพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ยึดความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.),ศ.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล (molecular medicine) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2564 กล่าวถึงประโยชน์ของวัคซีนโควิด- 19 สำหรับประชาชน ว่า

เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น สิ่งที่จะทำให้ เราควบคุมโรคระบาดและกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด คือ ต้องสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประชาชน เนื่องจากหากไม่มีมาตรการป้องกันโรค เช่น เว้นระยะห่าง ล้างมือ และใส่หน้ากาก และไม่มีการใช้วัคซีน จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก หากใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเดียวโดยไม่มีวัคซีนจะต้องใช้เวลานานหลายปี จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในคนจำนวนมากได้ แต่โรคโควิด -19 มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั่วโลก วิธีที่เร็วที่สุด ที่จะทำให้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ คือการใช้วัคซีนร่วมกับมาตรการป้องกันโรค โดยต้องฉีดเพื่อทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ไม่น้อยกว่า 50-60% ของประชากร

ศ.นพ.วิปร กล่าวว่า ขณะนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด -19 ทั้งจริงและไม่จริงจำนวนมากในสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความสับสนในสังคม จึงขอทำความเข้าใจ ดังนี้ เนื่องจากเชื้อโควิด -19 จะใช้ “โปรตีนเอส” จับกับเซลล์มนุษย์เพื่อแทรกตัวเองเข้าไปเจริญเติบโตในร่างกายมนุษย์ การทำวัคซีนจึงใช้วิธี “หนามยอกเอาหนามบ่ง” คือ นำโปรตีนดังกล่าวมาใช้เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ภูมิต้านทานร่างกายรู้จักและจดจำ เมื่อเจอไวรัสตัวจริง เซลล์ภูมิต้านทานก็จะทำลายเชื้อไวรัสที่เข้ามาได้ ทำให้ป้องกันการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อก็มีอาการไม่รุนแรง

ทั้งนี้ การผลิตวัคซีนโควิด -19 หลักๆ ขณะนี้มี 3 เทคโนโลยี ได้แก่

Advertisement

1.เทคโนโลยี mRNA ที่นำสารพันธุกรรม RNA ที่สร้างโปรตีนเอสของไวรัสมาทำวัคซีน แต่โดยปกติสารพันธุกรรมไวรัสจะมีเปลือกหุ้ม หากไม่มีเปลือกหุ้มจะไม่เสถียรและไม่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ จึงนำไขมันระดับนาโนมาหุ้ม แต่การเก็บรักษาวัคซีนขนิดนี้ต้องใช้อุณหภูมิต่ำมากๆ คือ ลบ 80 องศาเซลเซียส ซึ่งประเทศไทยเป็นเมืองร้อน มีอุณหภูมิสูง การจัดเก็บจึงมีความท้าทาย หากจัดเก็บไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งบริษัทไฟเซอร์และโมเดินนาร์ใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิต
2. เทคโนโลยีไวรัลเวคเตอร์ เป็นการประดิษฐ์สารพันธุกรรม DNA เพื่อสร้างโปรตีนเอสของไวรัสโควิด และหุ้มด้วยเปลือกจากไวรัสอีกตัวเพื่อนำเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งการใช้เปลือกไวรัสหุ้มสารพันธุกรรมทำให้สามารถจัดเก็บในอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียสได้ จึงเหมาะสมกับประเทศไทยที่มีอากาศร้อน เทคโนโลยีนี้มีบริษัท แอสตราเซนเนกาและสปุตนิกของรัสเซียที่ใช้ในการผลิตวัคซีน
3. เทคโนโลยีเชื้อตาย ทำได้จากการนำเชื้อไวรัสจริงๆ มาเพาะเลี้ยงให้มีจำนวนมากขึ้น และใส่สารบางอย่างให้เชื้อตาย ไม่มีคุณสมบัติก่อโรคได้อีก แล้วนำมาทำวัคซีนโดยเติมสารกระตุ้นภูมิต้านทาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีใช้มานานทั้งวัคซีนพิษสุนัขบ้า โปลิโอ และตับอักเสบ สำหรับการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีนี้มีของบริษัทซิโนแวคและซิโนฟาร์ม จากประเทศจีน

ศ.นพ.วิปร กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนนั้น ความปลอดภัยมีความสำคัญอันดับหนึ่ง โดยมีการวิจัยทั้งระดับสัตว์ทดลอง คือในหนูและลิง การวิจัยในคนถึง 3 ระยะ เพื่อดูความปลอดภัยและประสิทธิภาพ หากผ่านตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกจึงจะขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน โดยยืนยันว่าคนที่เคยติดเชื้อแล้วสามารถฉีดวัคซีนได้ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ ส่วนอาการปวดบวม มีไข้ หลังฉีดวัคซีนสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัคซีน และยืนยันว่าด้วยข้อมูลในปัจจุบัน การใช้วัคซีนด้วย RNA และ DNA ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมของมนุษย์

“การฉีดวัคซีนโควิด -19 ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศเรา และกำลังจะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์นี้ จึงเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะช่วยทำให้คนไทยและประเทศไทยของเรา ผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้” ศ.นพ.วิปร กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image