‘อัจฉริยะ’ หอบหลักฐาน ยื่น สบส. เอาผิด รพ.เอกชน กรณีพริตตี้วาวา

‘อัจฉริยะ’ หอบหลักฐาน ยื่น สบส. เอาผิด รพ.เอกชน กรณีพริตตี้วาวา

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ  รองอธิบดีสบส. รับเรื่องร้องเรียนจากครอบครัว น.ส.วาวา พริตตี้สาวที่เสียชีวิตจากงานปาร์ตี้ โดยมี นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากร เป็นผู้ดำเนินการยื่นเอกสารร้องเรียน

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตของ น.ส.วาวา พริตตี้สาว ตนเชื่อว่าเกิดจากโรงพยาบาล(รพ.) เปาโลเกษตร ที่ไม่ปฏิบัติตามยูเส็บ(Universal Coverage for Emergency Patients:UCEP) ตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ซึ่ง รพ. มีการประวิงเวลาในการรักษาถึง 50 นาที ซึ่งตนเชื่อว่าถ้ารักษาตั้งแต่แรกผู้ป่วยจะไม่เสียชีวิต

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า เริ่มต้นเมื่อเวลา 06.20 น. ผู้ร่วมในงานปาร์ตี้ได้นำผู้ป่วยมาส่งที่ รพ. และนำเข้ารักษาในห้องพยาบาลเวลา 6.29 น. ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีผู้วางเงิน และเดินทางกลับไป หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อใครได้ จึงใช้นิ้วมือของวาวา ปลดล็อคโทรศัพท์มือถือและเข้าไลน์ โทรไปยังคุณอุ๊ ญาติผู้ป่วย แจ้งให้มาที่ รพ. ต่อมาเวลา 7.09 น. นายเก่ง ฤทธิเดช ผู้ร่วมงานปาร์ตี้ก็กลับมาถึง รพ. ทางเจ้าหน้าที่จึงให้จ่ายเงินมัดจำรักษา 15,000 บาท เป็นการโอนจ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น K-plus โดยให้นายเก่งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลโดยทำเป็นบันทึกข้อความไว้ แต่แม้จ่ายเงินแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่พาเข้าไปรักษาในห้องไอซียู โดยขณะนั้น เจ้าหน้าที่ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับผู้ป่วย ซึ่งยังรู้สึกตัวขยับมือได้และยังไม่เสียชีวิต

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า เมื่อเวลา 7.18 น. คุณอุ๊เดินทางไปถึงรพ. และได้รับใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวนเงินอีก 40,000 บาท แต่หลังจากนั้นเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต ขณะที่กำลังนำส่งขึ้นรถแต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ให้นำศพขึ้นรถ และให้คุณอุ๊จ่ายค่าชุดอีก 500 บาท ต่อมาเวลา 12.15 น. ทางรพ.ได้แจ้งที่สน.พหลโยธิน ว่า น.ส.วาววา เสียชีวิต 08.15 น. ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว

Advertisement

“เป็นหลักฐานว่ารปภไม่คำนึงถึงผู้ป่วย สนใจแต่เงินเป็นตัวตั้ง ซึ่งในกรณีนี้เราได้พบเห็นในโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง และผมเชื่อว่าหากมีการรักษาที่ทันท่วงทีน้องวาวาก็จะไม่เสียชีวิต เพราะในการรักษารับผู้ป่วยมาตั้งแต่ 6:29 น. ซึ่งใช้เวลามากกว่า 50 นาทีในการเรียกเก็บเงิน” นายอัจฉริยะ กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า เป็นเรื่อง UCEP  เป็นนโยบายสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาโดยไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่าย โดยตั้งแต่ปี 60 ประชาชนได้รับการดูแลกว่า 80,000 ราย เป็นเงินกว่า 2,816 ล้านบาท สำหรับเรื่องนี้สบส.จะนำหลักฐานทั้งหมดไปดำเนินการตรวจสอบ และประชุมคณะอนุกรรมการสอบสวนเรื่องร้องเรียนในสัปดาห์นี้ โดยจะดูว่าเรื่องมาตรฐานการแพทย์หรือไม่  ดำเนินการในเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นไปตามระเบียบที่วางไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำไปยังสถานพยาบาลเอกชน ว่าเรื่อง UCEP ฉุกเฉินคือเรื่องสำคัญในระดับนาที จึงขอให้ช่วยกันดูแลรักษาประชาชนหากไม่ทำตาม จะมีโทษจำไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษทางวิชาชีพด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image